‘เทเลนอร์’ เจาะเทรนด์คนใช้เน็ต อาการ ‘ติดมือถือ’ ไทยติดโผท็อปเอเชีย

‘เทเลนอร์’ เจาะเทรนด์คนใช้เน็ต อาการ ‘ติดมือถือ’ ไทยติดโผท็อปเอเชีย

ผลการศึกษา “Digital Lives Decoded” โดย “เทเลนอร์ เอเชีย” ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดในเอเชีย ขณะเดียวกันคนไทยเป็นแฟนตัวยงของการใช้งานโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ

ผลการศึกษา “Digital Lives Decoded” โดย “เทเลนอร์ เอเชีย” ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากที่สุดในเอเชีย ขณะเดียวกันคนไทยเป็นแฟนตัวยงของการใช้งานโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ

โดยเกือบ 9 ใน 10 หรือ 86% ใช้เวลามากกว่าครึ่งวันบนมือถือ, 1 ใน 5 ใช้ชีวิตโดยมีมือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา และคาดว่า  83% จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคเลยก็ว่าได้

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักๆ มาจากการใช้บริการออนไลน์ 78%, การทำงาน 78%, และการปฏิสัมพันธ์บนโลกโซเชียล 67% ที่น่าสนใจกลุ่มผู้หญิงจะมีการใช้งานมากขึ้นกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะใช้ทักษะและความสามารถใหม่ๆ เพื่อความก้าวหน้าในสายงานหรือริเริ่มธุรกิจของตน

‘เทเลนอร์’ เจาะเทรนด์คนใช้เน็ต อาการ ‘ติดมือถือ’ ไทยติดโผท็อปเอเชีย

เพตเตอร์ บอเร่ เฟอร์เบิร์ค รองประธานกรรมการ และ ประธาน เทเลนอร์ เอเชีย เปิดมุมมองว่า คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเสมือนเป็น “ดิจิทัลแพลตฟอร์มหลัก” กับทุกๆ กิจกรรมของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานทั่วไป เพื่อความบันเทิง การเรียนรู้ รวมถึงการทำงาน

“เราได้เห็นทัศนคติเชิงบวกต่อการใช้งานมือถือและอนาคตดิจิทัลของคนไทย คนไทยเปิดกว้างอย่างมากต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมที่จะก้าวตามให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งจากนี้คาดว่าการใช้งานจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างมาก”

 คนรุ่นใหม่ เบนเข็มไปหา TikTok

เทเลนอร์ ยังค้นพบประเด็นที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งในปีนี้คือ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ท้าทายและสภาพแวดล้อมที่มีสภาวะเงินเฟ้อสูง คนไทยกำลังใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อจัดการค่าครองชีพที่สูงขึ้น

‘เทเลนอร์’ เจาะเทรนด์คนใช้เน็ต อาการ ‘ติดมือถือ’ ไทยติดโผท็อปเอเชีย

โดยคนไทย 93% ใช้โทรศัพท์เพื่อจัดการธุรกรรมทางการเงิน และกว่า 74% ใช้มือถือเพื่อเปรียบเทียบราคา, 64% ค้นหาข้อเสนอที่ดีที่สุด, 49% ติดตามการใช้จ่าย

พบด้วยว่า 93% ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อจัดการธุรกรรมทางการเงินทุกสัปดาห์ และ อีก 55% กำลังที่จะลงทุนออนไลน์เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กยังคงเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยมที่คนไทยใช้ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มคน (57%) และรับข้อมูลข่าวสาร (52%) แต่ทั้งนี้มีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะเริ่มแรก โดยเกือบหนึ่งในแปดของเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 29 ปีได้รับข่าวสารจาก TikTok

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพูดถึงระบบ 5G เหตุผลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยระบุไว้คือ การสตรีมวิดีโอหรือเพลง (84%) ทำงานหรือเรียน (69%) และเล่นเกม (66%)

การเล่นเกมบนมือถือยังคงเป็นกิจกรรมอดิเรกยอดนิยม คนไทย 44% กล่าวว่า พวกเขาใช้อุปกรณ์มือถือเพื่อเล่นเกมในทุกๆวัน โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิภาคที่อยู่ที่ 30%

พบด้วยว่า คนไทยถึงสามในสี่รู้สึกว่าตนมีสมดุลที่ดีในการใช้เทคโนโลยีและไม่ได้มีการใช้งานที่มากเกินไป ผู้ใช้มือถือชาวไทย 55% มีแนวโน้มที่จะรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือได้ ส่วนค่าเฉลี่ยในภูมิภาคอยู่ที่ 39%

GenAI ปลดล็อคโอกาสใหม่ๆ

ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเกือบครึ่งเชื่อว่า การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่สามารถช่วยส่งเสริมให้พวกเขามีความก้าวหน้าในการทำงานได้ (53%) ช่วยในการเปลี่ยนอาชีพ (37%) หรือการจัดตั้งธุรกิจของตนเอง (31%) ซึ่งเป็นรากฐานของศักยภาพอันมหาศาลของการเชื่อมต่อผ่านมือถือ

นอกจากนี้ มีความคาดหวังที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเร่งการทำงานในสถานที่ทำงาน โดยสองในสามเชื่อว่าการใช้ “Generative AI” ในการทำงานจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอีก 6 เดือนข้างหน้า

เกือบครึ่งหวังว่าจะได้เรียนรู้และเข้าใจในทักษะที่จำเป็นเพื่อสามารถใช้งานและเข้าถึงเครื่องมือ generative AI เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันในอาชีพการงานของพวกเขา

เช่นเดียวกับธุรกิจในไทยที่เปิดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยกว่า 82% ระบุว่าองค์กรของพวกเขาสนับสนุนให้พนักงานใช้ generative AI ในที่ทำงาน มีเพียง 10% เท่านั้นที่บอกว่าองค์กรของตนห้ามหรือไม่สนับสนุนการใช้เอไอ

“คนไทยต้องการที่จะแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ที่นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน และเนื้องานของพวกเขา เพื่อยกระดับทักษะและความสามารถ อีกทั้งเสริมการเข้าถึงแหล่งรายได้เพิ่มเติม”

 ‘ไซเบอร์บูลลี่’ ไต่ระดับสูงสุด

เพตเตอร์ บอกว่า คนไทยมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโทรศัพท์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันซึ่งเป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยมีผู้ตอบแบบ 21% กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้กังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาคอยู่ที่เพียง 8%

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของผู้สูงอายุ (75%) และ เด็กเยาวชน (72%) พวกเขาเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดในการให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับความปลอดภัยทางออนไลน์คือการให้แนวทางสำหรับพฤติกรรมออนไลน์ (71%) และการพูดคุยอย่างเปิดเผย (61%)

ส่วนความกังวลต่อภัยออนไลน์ หลักๆ จะเป็นการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว (69%), การคุกคามทางออนไลน์ (57%) และบ่อยครั้งที่พวกเขาเผชิญกับข่าวปลอม การหลอกลวง และความรู้สึกติดกับโลกออนไลน์

นอกจากนี้ พวกเขายังเผชิญกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ในระดับสูงสุดในภูมิภาค โดยเกือบครึ่ง หรือกว่า 47% รายงานว่าพวกเขาประสบปัญหานี้อย่างน้อยเดือนละครั้ง

‘ความยั่งยืน’ ปัจจัยใหม่ผู้บริโภค

ปัจจุบัน การใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เอื้อต่อโอกาสในการยกระดับทักษะและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ทั่วประเทศไทย 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจในปีนี้กล่าวว่า อุปกรณ์เคลื่อนที่ของตนยังคงเปิดประตูสู่การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ โดยมีถึง 91% ที่บอกว่าพวกเขาใช้มือถือเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

โดยกว่า 72 กล่าวว่าพวกเขาต้องการใช้ทักษะที่มีเพื่อหารายได้เพิ่มเติม และ 55% บอกว่าแหล่งรายได้ใหม่ยอดนิยมที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่มาจากการลงทุนออนไลน์, การขายในตลาดออนไลน์ 40% และการกลายเป็นนักสร้างคอนเทนต์ 38%

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 72% แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้โทรศัพท์มือถือ

ขณะเดียวกันตำแหน่งด้านความยั่งยืนของผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกผู้ให้บริการมีเพียงหนึ่งในสิบคนเท่านั้นที่ไม่ตระหนักถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือของตนเลย