รัฐบาลแจก 10,000 บาท 'เงินสด' หรือ 'เงินดิจิทัล' ?
หลังจากที่รัฐบาลเริ่มประกาศนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ออกมาชัดเจนขึ้น หลายคนก็อาจยังสงสัยอยู่ว่า รัฐบาลแจกเงินอะไรกันแน่? ที่แน่ชัด คือ ไม่ใช่เงินดิจิทัล เพราะถ้าเป็นเงินดิจิทัลคงต้องออกเงินสกุลใหม่ หรือเป็น “ดิจิทัล โทเคน”
หลังจากที่รัฐบาลเริ่มประกาศนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ออกมาชัดเจนขึ้น หลายคนก็อาจยังสงสัยอยู่ว่า รัฐบาลแจกเงินอะไรกันแน่? ที่แน่ชัด คือ ไม่ใช่เงินดิจิทัล เพราะถ้าเป็นเงินดิจิทัลคงต้องออกเงินสกุลใหม่ หรือเป็น “ดิจิทัล โทเคน” และอาจต้องมีเทคโนโลยีบล็อกเชนในการทำธุรกรรม และอาจไม่ผูกกับบัญชีธนาคารก็ได้หรืออาจไม่ต้องมีเงินสดค้ำอยู่แต่ก็ไม่ใช่เงินสด เพราะถ้าเป็นเงินสดต้องอยู่ในรูปแบบทางกายภาพที่เราจับต้องได้ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกรรม และไม่สามารถติดตามได้
สิ่งที่รัฐบาลแจกน่าจะเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ แต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ผูกกับเงินสดที่อาจอยู่ในบัญชีธนาคารที่ค้ำอยู่ เงินอิเล็กทรอนิกส์นี้ต้องใช้เทคโนโลยีผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ทำธุรกรรม และติดตามและตรวจสอบได้ ซึ่งอาจใช้เทคโนโลยีใดๆ ก็ได้ในการทำการตรวจสอบ รวมถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน
คล้ายกับเราไปเดินซื้ออาหารในศูนย์อาหารแล้วต้องเอาเงินสดมาซื้อคูปองก่อน แล้วก็สามารถนำคูปองนั้นไปซื้ออาหารตามร้านค้าได้ ร้านค้าก็มั่นใจว่าคูปองนี้สามารถแลกคืนเป็นเงินสดจากศูนย์อาหารเมื่อสิ้นวันได้ ซึ่งก็จะมีเงินสดหมุนเวียนไปจับจ่ายซื้อสินค้ามาทำอาหารในวันต่อไป คูปองนี้ก็จะกำหนดขอบเขตการใช้งานได้เฉพาะในศูนย์อาหารเท่านั้น
กรณีรัฐบาลที่จะแจกเงินคนละ 10,000 บาท ก็คล้ายกัน คือ ต้องไปหาเงินสดมา 500,000 ล้านบาท เพื่อมาค้ำประกันก่อนออกคูปอง จากนั้นก็จะแจกคูปองให้ประชาชนไปจับจ่ายซื้อสินค้า โดยอาจกำหนดพื้นที่ให้ซื้อสินค้าครอบคลุมในเขตอำเภอที่ตัวเองอยู่ คล้ายๆ กับกำหนดบริเวณศูนย์อาหาร และสุดท้ายร้านค้าก็สามารถนำคูปองไปขึ้นเงินสดได้
แต่แทนที่จะใช้คูปองหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในศูนย์อาหาร รัฐบาลก็จะใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลผ่านแอปเป๋าตัง แล้วเอาเงินอิเล็กทรอนิกส์ไปใส่ ซึ่งกระเป๋าเงินดิจิทัลก็สามารถที่จะเขียนโปรแกรมควบคุมการจ่ายเงินได้ว่าจะให้ชำระได้กรณีไหน ร้านค้าที่รับชำระเงินก็อาจต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อรับเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้ ทั้งประชาชนและร้านค้าต่างก็มีกระเป๋าเงินดิจิทัล รัฐบาลก็อาจกำหนดได้ว่าเฉพาะร้านค้าที่ลงทะเบียนเท่านั้นที่จะสามารถแลกคืนเป็นเงินสดได้
ซึ่งโดยปกติกระเป๋าเงินดิจิทัล ก็สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้อยู่แล้วว่า ได้รับหรือจ่ายเงินไปที่ใคร และก็สามารถที่จะขยายการพัฒนาโปรแกรมให้ควบคุมวิธีการชำระเงินได้ และก็สามารถตรวจสอบได้โดยใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแต่อย่างใด
การจ่ายเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้วกำหนดเงื่อนไขในการแลกคืนเป็นเงินสดอาจจะแตกต่างจากศูนย์อาหารที่ผู้ใช้คูปองสามารถแลกคืนเองได้ และร้านค้าก็จะสามารถแลกเป็นเงินสดได้รวดเร็วพอที่จะมีเงินสดหมุนเวียนในการทำธุรกิจ แต่หากรัฐบาลกำหนดระยะเวลาแลกคืนเงินสดช้าเกินไป ร้านค้าก็อาจขาดสภาพคล่องเว้นแต่ว่าสามารถใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์นี้ซื้อของจากผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพื่อมาจำหน่ายต่อได้
ดังนั้น หากรัฐบาลกำหนดให้แลกคืนเป็นเงินสดได้ทันที ก็เชื่อว่าร้านค้าส่วนใหญ่ที่รับเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะรีบแลกคืนทันทีเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการทำธุรกิจ
จากนโยบายที่ออกมา การใช้แอปเป๋าตังที่มีอยู่ก็คงไม่มีความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีอย่างใด ยกเว้นว่าหากมีการนำระบบบล็อกเชนเพิ่มเข้ามาในการตรวจสอบ ก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในการพัฒนาระบบที่จะต้องมีขนาดใหญ่รวมถึงมีระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนในการพัฒนา และอาจไม่คุ้มค่าเนื่องจากเป็นการใช้งานในระยะสั้นเพียง 6 เดือน ทั้งที่เทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้อยู่สามารถควบคุมการทำธุรกรรมชำระเงินในเขตอำเภอได้ และสามารถช่วยในการตรวจสอบได้
ปัญหาที่น่ากังวลมากกว่า คือ ผู้ใหญ่ใจดีที่จะหาเงิน 500,000 ล้านบาท มาซื้อคูปองแจก จะสามารถผ่านกฎหมายกู้เงินมาแจกได้หรือไม่ โดยในระยะยาวจะต้องมีหนี้สินที่ต้องชดใช้ตามมาอีกหลายปี ส่วนถ้าหวังให้หมุนคูปองหรือเงินอิเล็กทรอนิกส์นี้ได้หลายรอบ ก็คงต้องทำให้ร้านค้าส่วนใหญ่ที่มีความจำเป็นต้องแลกเงินสดกลับมาสามารถมีสภาพคล่องที่พอเพื่อเก็บคูปองหรือนำคูปองไปซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้นาน โดยไม่ต้องรีบแลกเงินสดคืนโดยเร็ว
สรุปได้ว่ารัฐบาลไม่ได้แจกเงินดิจิทัล แต่ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อแจกเงินสดในรูปแบบของคูปองอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเหตุนี้ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจึงลดลงอย่างมาก