‘จีเอเบิล’ลุย ‘เอไอ - ไคลเมท เทคฯ’ ต่อยอดธุรกิจสานแผนโต‘ยั่งยืน’
‘จีเอเบิล’ (GABLE) เทคคอมพานีไทย เปิดแผนใหญ่ ดัน 5 บริษัทในเครือจัดเต็มโซลูชั่นดิจิทัล ตอบโจทย์องค์กรธุรกิจ ลั่นหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) มีทุนเพิ่มพร้อมขยายธุรกิจต่อ ลุย ‘เอไอ -Climate Tech ดึงต่างชาติร่วมพาร์ทเนอร์บูม ‘เอชอาร์ ดิจิทัล’
‘จีเอเบิล’ (GABLE) เทคคอมพานีไทย เปิดแผนใหญ่ ดัน 5 บริษัทในเครือจัดเต็มโซลูชั่นดิจิทัล ตอบโจทย์องค์กรธุรกิจ ลั่นหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) มีทุนเพิ่มพร้อมขยายธุรกิจต่อ ลุย ‘เอไอ' เต็มสูบ มองเทคฯ ด้านความยั่งยืนหรือ Climate Tech หนุนบริษัทโตก้าวกระโดด เปิดกว้างดึงต่างชาติร่วมพาร์ทเนอร์บูม ‘เอชอาร์ ดิจิทัล’
‘ชัยยุทธ ชุณหะชา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน)ให้สัมภาษณ์พิเศษ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ เล่าแผนเติบโตของบริษัทในอนาคต หลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงวิกฤติในตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมา
"ผมมองว่าอยู่ที่ fundamental ของบริษัท เรื่องของ sentiment มีผลอยู่แล้ว แต่ของเราถือว่า ยังโชคดีที่เข้าไปช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งช่วงนั้น sentiment ยังดีไม่ได้แย่ แต่หลังจากนั้นตลาดก็หันหัวลง แต่ผมมองว่ามันเป็นความผันผวน เป็นไซเคิล อยากให้ดูที่พื้นฐานธุรกิจ เราเชื่อว่าเรา resilience ได้เพียงพอที่จะไปต่อได้"
ลุยใหญ่ ‘เอไอ -ไคลเมท เทค -เอชอาร์’
ขณะที่ภาพรวมการเติบโต 9 เดือนของจีเอเบิล ยังเติบโตได้ดีกว่าคาด แต่เวลาที่เหลือของปีนี้อาจต้องมีการมอนิเตอร์อย่างเข้มข้น พยายามรักษากลุ่มธุรกิจที่ทำอยู่เอาไว้ และคาดหวังว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง
ส่วนปีหน้าได้ศึกษาธุรกิจใหม่ มองแผนธุรกิจแบบระยะสั้น กลาง และยาว เน้นหนัก 5 บริษัทในเครือ ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอหลักที่ยังมีการเติบโต โดยเฉพาะในบริการกลุ่มบิ๊ก ดาต้า ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ คลาวด์ และแมเนจเทค เซอร์วิส
"ปีหน้าเรามองว่าจะสยายปีกไปที่ บิสิเนส แอปพลิเคชั่น มากขึ้น เช่น เอชอาร์ แมเนจเม้นท์ ซิสเต็มส์ เรากำลังจับมือกับพันธมิตรเบอร์หนึ่งของโลกด้านเอชอาร์ ที่จะเข้ามาทำตลาดในไทย และจีเอเบิลจะเป็นพาร์ทเนอร์เพียงรายเดียว นอกจากนี้ ยังมองไปที่ระบบอีอาร์พี และซีอาร์เอ็มตัวอื่นๆ ด้วย เพราะปัจจุบันลูกค้าไม่ได้สนใจแค่เรื่องอินฟราสตรัคเจอร์อย่างเดียวแล้ว ลูกค้าสนใจเรื่อง บิสิเนส แอปพลิเคชั่นมากขึ้น ซึ่งจีเอเบิลมองว่า ยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ"
ชัยยุทธ บอกด้วยว่า ในระยะยาว จีเอเบิล จะเข้าไปรุกในตลาด “เอไอ” อย่างเต็มรูปแบบ รวมไปถึง “ไคลเมท เทค” (Climate Tech) และซิเคียวริตี้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคต
ส่วนปีนี้ ตัวที่ทำให้จีเอเบิลแข็งแกร่งยังมาจาก ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ แมนเนจเทค เซอร์วิส แอปดีเวลลอปเม้นท์ ดาต้าอนาไลติกส์ รวมถึงคลาวด์ เป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่ลูกค้าหลักยังเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
"กลุ่มลูกค้าหลักของจีเอเบิล เป็นภาคเอกชนกว่า 80% ภาคธุรกิจยังลงทุนเรื่องเทคโนโลยีต่อ ลูกค้าจีเอเบิลมากกว่า 80% ก็เป็นกลุ่มลูกค้าเอกชน มีภาครัฐไม่เยอะมากประมาณ 20% ของพอร์ต ลูกค้าเราอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เป็น Big Spender ของประเทศ ทั้งกลุ่มแบงก์ การเงิน ต้องยอมรับว่าเรื่องของซิเคียวริตี้ เรื่องของอินฟราสตรัคเจอร์ แบงก์ให้ความสำคัญ เนื่องจากกฎของแบงก์ชาติออกมาเข้มข้น เช่น ระบบเอทีเอ็มของแบงก์ล่มไม่ได้ ทำให้แบงก์ต้องเพิ่มการลงทุน จีเอเบิลก็เพิ่งได้ดีลจากแบงก์ใหญ่มา"
จาก SI ผันตัวสู่ tech enabler
อย่างไรก็ตาม หลังจากจีเอเบิล เข้าไอพีโอบริษัทก็พร้อมผันตัวจาก “ซิสเตม อินทริเกรเตอร์” หรือ “เอสไอ” ไปสู่ Business mind พาร์ทเนอร์ชิป รวมถึง “tech enabler” มากขึ้นด้วย
"ในอนาคตเราจะไปเอไอมากขึ้น ช่วยองค์กรเพิ่ม productivity ในมุมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัททำอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็ว เราพยายามพาร์ทเนอร์ชิพกับต่างประเทศบางราย ซึ่งหลังจากเราเข้าตลาดฯไปแล้ว ความต่างจากก่อนเข้าและหลังเข้า คือ เรื่องของเงินทุน วันนี้เรามีเงินทุนส่วนหนึ่งที่ต้องการเอามาขยายกิจการ ทั้งเรื่อง M&A การเป็นพาร์ทเนอร์ การร่วมทุน ซึ่งเรากำลังทำอยู่"
ทั้งนี้ เขายอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่ sentiment อาจไม่ค่อยดีมาก แต่เชื่อว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดี และจีเอเบิลจะมีความเคลื่อนไหวในเรื่องของการเพิ่มการเติบโตแบบ inorganic มากขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปมภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม จีเอเบิล มองว่าจะสามารถรับมือได้ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทผ่านวิกฤติมาหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้ประมาท ยังต้องมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด
"ผมคิดว่า เรื่องเหล่านี้มัน effect ทั้งตลาด ซึ่งจีเอเบิล ผ่านมาหลายเหตุการณ์ ผ่านวิกฤติมาเยอะพอสมควร คิดว่าจุดแข็งของเรา คือ มีสัดส่วนรายได้ประจำค่อนข้างเยอะ โปรดักส์ของเราเป็นพื้นฐานของธุรกิจต่างๆ และปัจจุบันโลกของไอที ก็กำลังมูฟไปอย่างรวดเร็ว ทรานส์ฟอร์มอย่างรวดเร็ว บริษัทไหน หรือองค์กรไหนไม่มีไอที หรือ ดิจิทัลเข้ามาช่วย ความได้เปรียบการแข่งขันก็จะลดลง ดังนั้น จีเอเบิล เรายังอยู่ในจุดที่ยังมีแวลู"
ดัน 5 บริษัทชิงสมรภูมิดิจิทัล
ปัจจุบัน จีเอเบิล มีบริษัทในเครือทั้งหมด 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท เบลนเดต้า จำกัด มุ่งเน้นเรื่อง บิ๊กดาต้า ที่ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2.บริษัท อินไซท์เอรา จำกัด ทำเรื่อง Social Listening และดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ยังเติบโตอย่างมาก เพราะ Martech กำลังมาแรง 3.บริษัท เอ็มเวิร์จ จำกัด เป็น “อินโนเวทีฟ แลป” มีโปรดักส์ คือ สเปซ เป็นการบริหารจัดการพื้นที่เช่า ปัจจุบันมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง สิงห์ เอสเตท , ปุณณวิถี 101
4.บริษัท เฟิร์ส ลอจิก จำกัด เป็นดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ของออราเคิลในไทยเป็นท็อปโฟว์ รวมถึงเป็นดิสทริบิวเตอร์ให้กับเวอร์ริทัส ปัจจุบันกำลังมองหาโปรดักส์นอกเหนือจากอินฟราฯ เช่น เอไอ หรือ บิสิเนสแอป 5.บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด ที่เน้นเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้โดยตรง
"อยากให้ทุกปีเป็นปีทอง ปีหน้าเราตั้งใจจะทำให้บริษัทมีการเติบโตขึ้นไปทุกปี ซึ่งสิ่งที่ดันให้เราเติบโตจะประกอบไปด้วยหลายส่วน growth engine ของเราคือ 3 บริษัทที่ได้พูดถึงไป เรามองเห็นมา 3-4 ปีแล้วว่าการเติบโตเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จีเอบิลเรามองว่า ทั้ง เบลนเดต้า อินไซท์เอรา เอ็มเวิร์จ จะช่วยให้เราเติบโตอย่างมีกำไร อย่างบิสิเนส แอป เราก็เริ่มดันขึ้นมาหวังว่าจะมีมาร์จิ้นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มเติม"
เอไอ จุดเปลี่ยนอุตฯ ไอที
ชัยยุทธ ย้ำว่า สิ่งหนึ่งที่จีเอเบิลอยากทำ คือ การผันตัวไปทำเรื่องคอนซัลท์ด้านเอไอ รวมถึงไคลเมท เทคฯ เป็นโรดแมปที่บริษัทวางไว้ จะทำให้การเติบโตของจีเอเบิล เติบโตเป็นขั้นบันไดไปเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทไม่เน้นการเติบโตแบบหวือหวา แต่เน้นการเติบโตแบบยั่งยืน
“สำหรับความกังวลในปีหน้า เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว อย่างปีที่แล้ว ข่าวเรื่องเมตาเวิร์สดังมาก เราพูดกันถึงเรื่องบล็อกเชน เอ็นเอฟที เทคโนโลยีมีค่อนข้างหลากหลายแต่เราต้องโฟกัสให้ได้ว่าตัวไหน คือ ตัวที่มีผล อย่างมีนัยยะที่แท้จริง แล้วเราต้องจับตัวเหล่านั้นให้ถูก เพราะเทคโนโลยีมีเยอะมาก เรามีความเชื่อมั่นว่า เอไอ น่าจะเป็นหนึ่งใน game changing ของอุตสาหกรรมไอที"
อย่างไรก็ตาม จีเอเบิล เพิ่งประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ไปเมื่อไม่นานมานี้ ยังมีการเติบโตมีรายได้จากการขาย และบริการ 1,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้น11% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน มีกำไรสุทธิเป็น 67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 11% จากไตรมาสก่อน ส่วนที่เป็น Growth Engine มีรายได้จากซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเอง เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน