สกมช.เผยปีนี้เสริมแกร่งบุคลากรป้องภัยไซเบอร์ทะลุ 1 ล้านคน

สกมช.เผยปีนี้เสริมแกร่งบุคลากรป้องภัยไซเบอร์ทะลุ 1 ล้านคน

เดินหน้าอัพสกิลทักษะป้องภัยไซเบอร์กว่า 1 ล้านคน ในปี 66 ปักธงขยายผลพัฒนาทุกช่วงวัย ปลูกภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ทั่วทุกภูมิภาค

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ผลักดันการพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์ให้กับคนไทย โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีองค์ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งมีการประสานงานเครือข่ายเพื่อบูรณาการยกระดับบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้มีขีดความสามารถในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา สกมช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมต่างๆ 
เพื่อพัฒนาทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับเด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยมียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทุกแพลตฟอร์มกว่า 1 ล้านคน จำนวนชั่วโมงการอบรมมากกว่า 2,000,000 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ สกมช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มเปราะบาง โดยได้จัดโครงการแนะแนวการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับผู้พิการ จำนวน 125 คน ณ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ซึ่งในจำนวนนี้สามารถต่อยอดสอบใบประกาศนียบัตรด้านไซเบอร์ได้สำเร็จ รวมถึงสร้างสิทธิเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการแข่งขันด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ "Woman Thailand Cyber Top Talent" สำหรับผู้หญิงและ เพศสภาพเป็นหญิง

ทั้งนี้ ในส่วนของแพลตฟอร์มออนไลน์ NCSA MOOC ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้เกี่ยวกับ Cybersecurity ได้อย่างเข้าใจง่ายและสนุกไปกับการเรียนรู้ ตอบโจทย์การศึกษาแบบ
ไร้ขีดจำกัดจนมีผู้สนใจเข้าใช้งานกว่า 3,807 คน ซึ่งหวังว่าความสำเร็จจากการดำเนินการครั้งนี้จะนำมาสู่การสร้างความตระหนักรู้ที่มากขึ้น

 

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า “สกมช. มุ่งสร้างความตระหนักรู้และทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เข้าถึงประชาชนทุกระดับทุกช่วงวัย ผ่านเครือข่ายของ สกมช. ในรูปแบบของการทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการจัดโครงการหรือการจัดอบรมต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านไซเบอร์ 

ซึ่งในปีหน้าตั้งเป้าหมายขยายเครือข่ายความร่วมมือกับทุกพันธมิตร ในการพัฒนาและเสริมภูมิคุ้มกันภัยให้คนไทยทั่วทุกภูมิภาคได้ใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์อย่างมีความสุขปลอดภัย และยั่งยืน