กสทช.นั่งหัวโต๊ะคุยมาเลย์ฯ มองกรณีศึกษา-แนวทางกำกับควบรวมอุตฯโทรคม

กสทช.นั่งหัวโต๊ะคุยมาเลย์ฯ มองกรณีศึกษา-แนวทางกำกับควบรวมอุตฯโทรคม

กสทช. ปิดฉากประชุมเรกูเลเตอร์ดึงโมเดลมาเลเซียกำกับดูแลแนวทางควบรวมกิจการโทรคมฯ มองต้องกำกับเชิงลึกในมิติโอเปอเรเตอร์และผู้บริโภค

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยสำนักงาน กสทช.จัดการประชุม Regulatory Network Meeting (RNM 2023) เมื่อวันที่ 6-8 ธ.ค. 2566 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกในประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ในการจัดประชุมก็เพื่อมุ่งหมายให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายการกำกับดูแลและข้อมูลเชิงลึกของผู้แทนหน่วยงานระดับสูง องค์กรกำกับดูแล รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศ

ทั้งนี้ การประชุม Regulatory Network Meeting หรือ RNM 2023 ได้มีการเตรียมงานมานานเกือบ 1 ปี โดยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามระเบียบขั้นตอนตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 และได้ดำเนินการเทียบเชิญหน่วยงานกำกับดูแลและนักวิชาการะดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยการ RNM 2023 ในปีนี้ มีผู้แทนจากองค์กรกำกับดูแล สถาบัน Think Tank และนักวิชาการระดับโลก เข้าร่วมประชุมกว่า 11 ประเทศ เช่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกาฯ เกาหลีใต้ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น 

กสทช.นั่งหัวโต๊ะคุยมาเลย์ฯ มองกรณีศึกษา-แนวทางกำกับควบรวมอุตฯโทรคม

 

กสทช.นั่งหัวโต๊ะคุยมาเลย์ฯ มองกรณีศึกษา-แนวทางกำกับควบรวมอุตฯโทรคม นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกสทช.ด้านเศรษฐศาสตา์ กล่าวว่า การหารือในที่ประชุม RNM 2023 ครั้งนี้ ครอบคลุมประเด็นด้านนโยบายที่ท้าทายที่มีความสำคัญในปัจจุบันทั้งหมด  5 ประเด็น คือ 1.ตั้งแต่ด้านการแข่งขันและการรวมกิจการ (Merger and Competition) ในประเด็นประสบการณ์ด้านการรวมธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรมของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งในประเทศก็มีดีลควบรวมของทรูและดีแทค และเอไอเอสกับ3บีบีโดยได้แลกเปลี่ยนแง่มุมความท้าทายที่เกิดต่อหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) และอภิปรายแนวทางในการกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการรวมกิจการ (Pre and post-merger) ที่สามารถสร้างสมดุลที่นำไปสู่การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สามารถกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมและปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคและสังคมโดยรวม

“ในเรื่องการด้านการแข่งขันและการรวมกิจการ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เกิดในประเทศไทย 2 ดีลใหญ่อย่างที่รู้กันคือ ทรูกับดีแทค และเอไอเอสกับ3บีบี ซึ่งในบริบทที่ใกล้เคียงกับคือประเทศมาเลเซียที่ก็มีการควบรวมกิจการไป“

 

2. ด้านการกำกับดูแลความเป็นส่วนตัว การถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน และการค้าดิจิทัล (Privacy Regulations, Cross-border Data and Digital Trade) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของความท้าทายของการกำกับดูแลความเป็นส่วนตัวคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในยุคที่การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรุดหน้าได้ทำให้กิจกรรมทางการค้าและการส่งผ่านข้อมูลในโลกออนไลน์เป็นไปอย่างเสรี และยังได้ถกแถลงแนวทางการกำกับดูแลที่สร้างสรรค์และเหมาะสมที่ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล สามารถร่วมกันผลักดันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงปลอดภัยของผู้ใช้งานและสังคม

3. ด้านกำกับดูแลบริการ โอทีทีภายใต้ความท้าทายด้านเทคโนโลยี เช่น เอไอ ซึ่งจะถกแถลงความท้าทายในยุคที่กิจการโทรทัศน์ถูกดิสรัปชั่น โดยเทคโนโลยีโอทีที และ เอไอ ซึ่งความท้าทายดังกล่าวเกิดจากกระแสพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก หน่วยงานกำกับดูแลและนักวิชาการต่างมีความกังวลว่า ความท้าทายที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมในอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้การกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับเทคโนโลยีและความท้าทายใหม่เพื่อสร้างสมดุลและภูมิทัศน์สื่อที่มีความปลอดภัย

4. ด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของความไม่เท่าเทียมในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีความสำคัญกับประชาชนในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพ ด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสมที่จะนำไปสู่สังคมที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้มีรายได้น้อยในสังคม

และ 5. ด้านเทคโนโลยีในอนาคตและความท้าทายในการกำหนดนโยบาย (Technology and Public Policy Challenges) แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นของเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงไป และความท้าทายจากเทคโนโลยีในอนาคต รวมทั้งอภิปรายแนวทางในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแล ภาครัฐ และเอกชน สามารถวางแผนและกำหนดนโยบายได้ล่วงหน้า โดยเฉพาะด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความมั่นคงปลอดภัย และด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่