ราคาแรงไม่ได้แปลว่าแพง! ทำไม ‘VERTU’ ถึงเป็นมือถือหลักแสนที่บางคนบอกคุ้ม
ถอดรหัสความแรงที่หลายคนบอกว่า “แพง” แต่หลายคนก็มองว่า “คุ้ม” ของ “VERTU” สุดยอดโทรศัพท์มือถือที่มีค่าตัวเริ่มต้นถึงหลักแสน กับเบื้องหลังการกลับมาตีตลาดมือถือในไทยระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่
การกลับมาทำตลาดในประเทศไทยอีกครั้งของ VERTU แบรนด์มือถือซูเปอร์ไฮเอนด์จากอังกฤษ กำลังส่งสัญญาณอะไรบางอย่างถึงแวดวงโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟน ถ้าหากย้อนกลับเมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่ประเทศไทยเพิ่งจะได้ถูกจัดเป็นเทียร์ 1 ในการจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนยอดฮิตอย่าง iPhone การคัมแบ็กของ VERTU ครั้งนี้อาจกำลังบ่งบอกว่าประเทศไทยกำลังก้าวไปอีกขั้นในฐานะหนึ่งในตลาดสมาร์ตโฟนระดับบนที่ศักยภาพสูง
การเปิดตัวการกลับมาของ "VERTU" ครั้งนี้มีผลิตภัณฑ์ชูโรงด้วยกัน 3 รุ่น ได้แก่ METAVERTU I 5G Web3 Phone ราคา 139,000 บาท สมาร์ตโฟนรุ่นแรกของโลกที่รองรับระบบ WEB3 และ Blockchain ผนวกความหรูหราและเทคโนโลยีชั้นสูงเข้าไว้ด้วยกัน มาคู่กับฟีเจอร์ถ่ายรูป Vshot Blockchain Camera ที่สร้างภาพถ่ายให้กลายเป็นสินทรัพย์ NFT ได้ภายในคลิกเดียว จอแสดงผล AMOLED 144Hz ขนาด 6.67 นิ้ว พร้อมกับกล้องหลังเซ็นเซอร์ Sony IMX787 ความละเอียด 64 ล้านพิกเซล อีกทั้งชิปรักษาความปลอดภัยการเข้ารหัสระดับสูงสุด และเซ็นเซอร์สัญญาณเตือนภัยเพื่อปกป้องสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังมี Butler หรือผู้ช่วยส่วนตัวคอยอำนวยความสะดวกผ่านโทรศัพท์ วัสดุภายนอกหรูหราสง่างามด้วยหนังลูกวัวอิตาลี หนังจระเข้ คาร์บอนไฟเบอร์ และจอแซฟไฟร์
SIGNATURE V ราคา 699,000 บาท โทรศัพท์รุ่นปุ่มกดซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของ “VERTU” โดดเด่นด้วยดีไซน์สุดคลาสสิก สร้างเอกลักษณ์ให้ผู้ครอบครอง ด้วยฟีเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ปราศจากฟังก์ชันบันทึกเสียงและกล้อง กิมมิกเสียงเรียกเข้าด้วยเพลงคลาสสิกที่บรรเลงโดยวงออเคสตราแห่งลอนดอน และเพิ่มความเอ็กซ์คลูซีฟเหนือชั้นกับบริการอำนวยความสะดวกส่วนบุคคลด้วย ‘ปุ่มทับทิม’ ด้านข้างเพียงคลิกเดียว เป็นงานคราฟต์ทำมือที่รังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถันด้วยมาตรฐานสูงสุดแห่งความเป็นเลิศ และวัสดุที่หายากที่สุดในโลก
และ METAWATCH H1 ราคา 99,000 บาท สมาร์ตวอทช์ที่หรูหราที่สุดในโลก ประดิษฐ์ขึ้นด้วยมืออย่างพิถีพิถันจากวัสดุระดับพรีเมี่ยม หน้าจอ 1.85 นิ้ว รองรับการวัดค่าออกซิเจนในเม็ดเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจอย่างเรียลไทม์ มาตรฐานป้องกันน้ำและฝุ่น IP67 ทุกองค์ประกอบได้รับการออกแบบอย่างประณีต เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานที่ดีที่สุด
KT Review กรุงเทพธุรกิจไอที ได้นั่งคุยกับ สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) และ สุทธิเกียรติ กิตติภัทรากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด สองคนเบื้องหลังที่พา “VERTU” กลับมาสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง
คำถามที่หลายคนคงสงสัยมากที่สุดคือทำไมสมาร์ตโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นของ "VERTU" ถึงราคาสูงมาก ซึ่งในมุมมองของ สุทธิเกียรติ กิตติภัทรากุล นี่คือราคาที่ไม่ได้เรียกว่าแพงอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งถ้าเทียบกับสมาร์ทโฟนแบรนด์ดัง รุ่นท็อป ยิ่งเห็นเหตุผลของระยะห่างราคา
“ถ้าเทียบกับสมาร์ทโฟนแบรนด์ใหญ่ๆ ในรุ่นท็อปหรือในรุ่นลิมิเต็ดของเขาที่มีราคาไปถึงแสนสองกว่าบาท กับ “VERTU” รุ่น METAVERTU I 5G Web3 Phone ที่มีราคาแสนสามกว่าบาท มันจึงไม่ได้แพงขนาดนั้น เพราะกลุ่มลูกค้าของเราคือกลุ่มกลางค่อนบนไปจนถึงกลุ่มบน และคนที่คิดว่า Blockchain หรือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงคิดว่าราคาไม่ได้สูงเกินไป ถ้าเทียบกับสมัยก่อนที่ VERTU เครื่องละ 5-6 แสน ไม่ได้มีรุ่นที่ราคาน้อยกว่านั้น และฟีดแบ็กของคนรอบข้างที่มองว่าใช้แล้วโง่ แพงแล้วเทคโนโลยีไม่ถึง แต่พอผมได้สัมผัสด้วยตัวเอง เทคโนโลยีไม่ได้เป็นปัญหาแล้วสำหรับ VERTU ยุคนี้”
นอกจาก “VERTU” จะถูกสร้างมาเพื่อเป็นโทรศัพท์สำหรับนักลงทุนแล้ว ด้านไลฟ์สไตล์ VERTU ถูกวางให้เป็นเสมือน Accessory Toy ที่ถึงแม้คุณจะมี iPhone ในมือ แต่ก็ยังมี VERTU อีกเครื่องเพื่อตอบโจทย์ทำนองเดียวกับสินค้าแบรนด์เนมได้เช่นกัน
ด้าน สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช เสริมเรื่องภาพลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของผู้ใช้ VERTU ว่า “ถ้าคุณไปงานกาลาดินเนอร์แล้วถือกระเป๋าใบหนึ่ง ถือ VERTU เครื่องหนึ่ง มันก็บ่งบอกถึงความลักซ์ชัวรี่ที่เป็น Accessory ของกลุ่มที่เป็นซูเปอร์ไฮเอนด์ ก็เหมือนคอนโดที่มีทั้งถูกและแพง แต่คอนโดแพงมักจะขายหมดก่อน เพราะมีกลุ่มนี้อยู่ และสิ่งที่ VERTU ทำ ผมเรียกว่าสมราคา ไม่ได้แพงเกินไป”
คำว่าซูเปอร์ไฮเอนด์ที่ถูกพูดถึงสำหรับ “VERTU” ไม่ได้หยุดอยู่แค่มือถือราคาเฉียดเจ็ดแสนบาทอย่างที่เปิดตัวไปตอนนี้ แต่ความจริง VERTU มีสมาร์ตโฟนที่ราคาสูงถึง 17 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์ของ VERTU จึงเป็นได้ทั้งของสะสม, Accessory และเพื่อการลงทุน
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยทั้งเรื่องเศรษฐกิจซบเซา, สภาวะตลาดสมาร์ตโฟนนิ่งงัน และราคาที่แม้จะยืนยันกันว่าไม่แพง ทว่าก็ยังไม่ใช่ราคาที่ใครๆ ก็ซื้อได้ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้นำเข้าต้องตระหนัก แต่ สุทธิเกียรติ บอกว่าไม่ตระหนก
“ผมขายมือถืออยู่ทุกวัน แต่ด้วยความที่เศรษฐกิจจะส่งผลให้ขายดีไม่ดี แต่ถึงอย่างไรผลิตภัณฑ์มือถือมันขายตัวมันเองทุกวันอยู่แล้ว แล้วตำแหน่งของ VERTU ในวันนี้ผมมองว่าไม่มีคู่ต่อสู้เลยจริงๆ เซกเมนต์นี้ถ้าคุณจะทำคุณต้องย้อนกลับไปอีก 20 ปี แล้วคุณไปเริ่ม เพราะคำว่า VERTU ทุกคนจะไม่ต้องเดาว่า VERTU คืออะไร แต่เทคโนโลยีวันนี้ VERTU สู้คนอื่นได้ไหมมากกว่า
ด้วยความที่ VERTU เซกเมนต์มันชัดมาก จะหาลูกค้าด้วยตัวมันเองได้ง่ายมากๆ แต่สิ่งที่พวกเราต้องทำคือช่องทางการขายที่ตั้งใจให้เป็นคิงพาวเวอร์กับเอไอเอส และเปิด Official Store ของ VERTU Thailand หนึ่งปีทำรุ่นลิมิเต็ดอิดิชันสัก 4 เวอร์ชัน”
การถือสิทธิ์เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “VERTU” ดูเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่จะเห็นได้ถึงการเตรียมความพร้อมในการกลับมาของแบรนด์นี้ที่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าจะไปได้ดี ซึ่งเรื่องนี้สุทธิเกียรติได้นำประสบการณ์จากครั้งที่นำ iPhone ทองคำ เข้ามาขายและประสบความสำเร็จ เพียงแต่ความแตกต่างของบรรยากาศในคราวนั้นแตกต่างจากตอนนี้มาก ทว่าเป็นความแตกต่างที่เป็นปัจจัยบวก
ตอนที่เขานำเข้า iPhone ทองคำเข้ามาขายมีจุดอิ่มตัวตรงที่สินค้าไม่ได้แตกต่างกว่ารุ่นปกติมากกว่าการใช้วัสดุทองคำ ในขณะที่ VERTU มาพร้อม Branding ที่ทั้งแตกต่างและเทคโนโลยีไม่เหมือนใคร กับยอดขายที่เขาตั้งเป้าว่าจะขายได้ปีละ 2,000 เครื่อง หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200 เครื่องเท่านั้น สำหรับผู้ผ่านประสบการณ์ขายของในกลุ่มอีลิทแล้วถือว่าไม่ยาก
“พอเราได้ Branding ของสินค้าที่ดี ผมไม่กังวลเรื่องการขายเลย คุณเดินมาซื้อผมก็แฮปปี้ คุณจะไม่ซื้อผมก็แฮปปี้ Branding มันอยู่ตรงนี้ ถ้าเขาไม่ซื้อแสดงว่าเขาไม่ใช่ลูกค้าเรา แบรนด์มันเลือกลูกค้า
นอกจากแบรนด์เลือกลูกค้าด้วยตัวมันเอง การที่ผมจับกลุ่มคนที่จะทำผลิตภัณฑ์ลิมิเต็ด ยกตัวอย่าง ยอร์ชไลฟ์ ผมเอาความชอบในโปรดักต์อื่นเข้ามาคอนทราสกับ VERTU ซึ่งคนพวกนั้นมีความรักในคอมมูนิตี้ของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าผมอยากจะเจาะกลุ่มไหน เซกเมนต์มันชัดมาก ถ้าของสิ่งหนึ่งมันชัด เราก็รู้อยู่แล้ว ไม่ต้องลองไง แต่ถ้าของอันไหนมันกลางๆ อันนี้จะลักซ์ชัวรี่หรือเปล่า หรือแมสหรือเปล่า อันนี้งง เพราะเราต้องทำตลาดกับกลุ่มไหนนะ ลูกค้าอยู่ไหน”
แต่เบื้องหลังของการได้ถือสิทธิ์เป็นผู้นำเข้าและจำหน่าย “VERTU” ในครั้งนี้คือความลงตัวแบบเดียวกับที่แบรนด์เลือกลูกค้า เพราะแบรนด์ก็เลือกคนที่จะมาทำให้ VERTU เฉิดฉายในไทยด้วย
สุทธิเกียรติเล่าว่าทางแบรนด์ VERTU ติดต่อไปทางฮ่องกงเพื่อหาตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคนี้ แล้วทางฮ่องกงได้ติดต่อมาทางบริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จนเกิดความร่วมมือกันกับบริษัท ยืมมั้ย (ประเทศไทย) จำกัด
“ครั้งนี้ VERTU ไม่ได้มาเล่นๆ แล้ว เขามองเห็นลูกค้าในไทย ส่วนการที่เขาเลือกพวกเราเพราะเราคุยภาษาเดียวกัน กับจริงๆ ประเทศไทยคลั่งมือถือมากเลยนะ แล้วกำลังซื้อที่ไทยสูงมากนะ แล้วเป้าเราปีหนึ่ง 2,000 เครื่อง เทียบกับจำนวนประชากร มันน้อยมาก มันน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์อีกนะ แล้ว Blockchain ที่ VERTU เอามาใส่ มันทำให้เราควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้ ผมไม่ได้พูดราคาเหรียญนะ แต่ผมพูดถึงเทคโนโลยี เพราะอย่าง iOS กับ Android เขาไม่เคยให้เราทำอะไรเลย เขาควบคุมเรา แต่ Blockchain มันเปิดโอกาสให้เราสร้างสิ่งที่เราทำได้ เราสร้างแอปที่จะไว้คุยกับคุณแค่สองคนก็ได้นะ ผมมองว่า Infrastructor กับเทคโนโลยีมันดี”