‘เอไอเอส’ อัดทุกขุมพลัง ‘5G’ หนุนท่องเที่ยว-ฟื้นเศรษฐกิจชายฝั่งทะเล
เอไอเอสถือครองอยู่ 1450 เมกะเฮิรตซ์ ผสานทุกเทคโนโลยีที่มีส่งผลให้ เอไอเอส กลายเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่มีสัญญาณ 5G ครอบคลุมทุกเกาะในอันดามันและอ่าวไทย ด้วยสปีดการรับ-ส่งข้อมูลมากกว่า 300 กิกะบิต พร้อมขอเป็นอีกหนึ่งพลังชูเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล ‘โอเชียน อีโคโนมี’
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่เป็นหัวใจของชาวเอไอเอสคือ การส่งมอบบริการที่ต่อเนื่อง ด้วยคุณภาพสัญญาณและนวัตกรรมที่พร้อมให้เชื่อมต่อได้เสมออย่างไม่มีข้อจำกัด ในการพัฒนาเครือข่ายให้รองรับความต้องการได้ดีขึ้นเรื่อยๆตามลำดับ และ มุ่งพัฒนาและขยายโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ให้มีความครอบคลุมการใช้งานในทุกพื้นที่ ทั้งกว้างสุด ไกลสุด สูงสุด และลึกสุดในไทย
ปลุกเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวด้วย 5G
ล่าสุดตอกย้ำความเป็นที่ 1 ตัวจริง ประกาศความสำเร็จ SEA COVERAGE บนพื้นที่ 2 ชายฝั่งทะเลไทย ทั้งอ่าวไทย และอันดามัน ชูนวัตกรรมโครงข่ายอัจฉริยะและสุดยอดเทคโนโลยีที่พร้อมให้บริการในทุกรูปแบบ ทั้งความเร็ว แรง และครอบคลุมมากที่สุดรายแรกในไทย ตอบโจทย์การใช้งานทุกกลุ่ม ในพื้นที่ภาคใต้ทั้งภาครัฐ บริการประชาชน สาธารณูปโภค ผู้ประกอบการประมง ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว อาทิ ผู้ให้บริการท่าเรือเฟอร์รี่ เรือยอร์ช เรือสปีดโบ๊ท ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล หรือ โอเชียน อีโคโนมีในทุกมิติ
“สำหรับบริเวณชายหาดทะเลของไทย ที่มีพื้นที่รวมกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน มีมากกว่า 700 เกาะ มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ติดอันดับโลก นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางในฝันของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศมากถึง 1.21 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจชายฝั่ง จากอุตสาหกรรมประมงทั้งชายฝั่งและประมงน้ำลึก, อุตสาหกรรมพัฒนาที่ดิน, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว“
สร้างโอเชียน อีโคโนมีอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังมีบริการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ การทำงานของภาครัฐในการให้บริการประชาชน รวมถึง นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค ผู้ให้บริการท่าเรือ และการเดินเรือต่างๆ อาทิ เรือเฟอร์รี่ เรือยอร์ช เรือสปีดโบ๊ท รวมถึงผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และบริการทัวร์ทุกรูปแบบ
ดังนั้น ที่ผ่านมาการบริหารจัดการคุณภาพเครือข่ายบริเวณชายฝั่งและกลางทะเล หรือ SEA COVERAGE จึงเป็นภารกิจหลักที่เราทุ่มเท เพื่อให้สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจชายฝั่งดังกล่าวได้อย่างดีที่สุด
วสิษฐ์ อธิบายต่อถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่ทางทะเลว่า การทำงานเพื่อขยายโครงข่ายทางทะเล หรือ SEA COVERAGE มีความท้าทายในการทำงานอย่างมาก เพราะลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ ตั้งแต่ชายฝั่ง เกาะ ไปจนถึงพื้นที่กลางทะเล รวมไปถึงแหล่งพลังงาน
ทำให้ทีมวิศวกรต้องใช้ทักษะ และประสบการณ์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงข่าย การผสมผสานระบบสื่อสัญญาณ (Transmission) พร้อมเลือกใช้นวัตกรรม โซลูชัน รูปแบบของพลังงานทดแทนจากธรรมชาติอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับภูมิประเทศและพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้โครงข่ายอัจฉริยะ 5G มีความพร้อมมากกว่าระบบสื่อสาร แต่สามารถตอบโจทย์ทุกประสบการณ์ดิจิทัลของลูกค้าและผู้ประกอบการทุกกลุ่ม โดยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานตามพฤติกรรมและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
เสริฟ์ความต้องการทุกเซกเตอร์
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Tourism Sector) ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานมากกว่า 95% ที่นอกเหนือจากกลุ่มนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร จะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ดิจิทัลบนโครงข่าย AIS 5G แล้ว หน่วยงานภาครัฐ อาทิ หน่วยงานอุทยานแห่งชาติ กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ ยังสามารถเชื่อมต่อการใช้งานระบบสื่อสาร และบริการดิจิทัล อาทิ IoT, e-Ticket และการจัดเก็บฐานข้อมูล (Tourism Smart Data)
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการอย่างผู้ให้บริการเรือยอร์ช (Yacht Route) เรือเฟอร์รี่ (Ferry Line) ที่โครงข่ายสื่อสารของ เอไอเอส มีความครอบคลุม ใช้งานได้ต่อเนื่องทุกเส้นทางการเดินทาง พร้อมนำนวัตกรรมอย่าง Super Cell มาทดลองทดสอบให้บริการจริงแล้ววันนี้ โดยสามารถส่งสัญญาณเชื่อมโยงระหว่างจุดต่อจุดได้สูงสุดกว่า 70 กิโลเมตร
กลุ่มอุตสาหกรรมประมง (Fisheries Sector) และความปลอดภัย ในพื้นที่สองชายฝั่งทะเลของประเทศทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน โดยอุตสาหกรรมประมงมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคพื้นทะเล เป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง ที่ใช้เรือขนาดเล็กทำการประมงในระยะทางประมาณตั้งแต่ 3-12 ไมล์ทะเล
และกลุ่มประมงเพื่อการพาณิชย์ หรือ ประมงน้ำลึก ที่ออกไปจับปลานอกเขตประมงชายฝั่ง แน่นอนว่ากลุ่มนี้ต้องการการติดต่อสื่อสาร ทั้งในด้านธุรกิจกับแพรับซื้อปลา การดูแลความปลอดภัย หรือการติดต่อครอบครัวบนฝั่ง และยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งทหารและตำรวจที่ดูแลความมั่นคงทางทะเล ซึ่งเอไอเอส สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน
กลุ่มชุมชนตามแนวชายฝั่งและบนเกาะ (Local Community Sector) ที่พัฒนาเครือข่ายครอบคลุมจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 98% แล้ว ทั้งมือถือ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ตอบสนองเรื่องการทำธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่น และระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ดิจิทัลเข้ามายกระดับ
ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล มีความสำคัญมากในพื้นที่ภาคใต้ที่มาอาณาเขต 2,400 กิโลเมตร สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1.21 ล้านล้านบาท มีเกาะมากกว่า 700 เกาะรอบๆ 2 ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตัวเลขก่อนจะมีโควิดปี 2561 เฉพาะเกาะพีพีในจ.กระบี่ มีนักท่องเที่ยวมากถึง 8 แสนคนต่อปี คิดเป็นอัตราการสร้างรายได้ให้แก่ภาคใต้ถึง 26 % มีเรือสำหรับบริการแก่นักท่องเที่ยวถึง 50,000 ลำ