‘ไทยคม’ เปิด ‘สถานีดาวเทียม LEO’ ยึดน่านฟ้า ‘ซีแอลเอ็มวี’ ลุยธุรกิจ ‘ไอโอที’

‘ไทยคม’ เปิด ‘สถานีดาวเทียม LEO’ ยึดน่านฟ้า ‘ซีแอลเอ็มวี’ ลุยธุรกิจ ‘ไอโอที’

หลังไทยคม ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านสื่อสารผ่านดาวเทียม และโซลูชันไอโอที สหรัฐอเมริกาไปเมื่อ 28 มี.ค.2565 วานนี้ (20 ธ.ค.66) ไทยคมเปิดตัว ‘สถานีดาวเทียม LEO ไทยคม - โกลบอลสตาร์’ แห่งแรกในไทย

หลังจากที่ บมจ.ไทยคม ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านสื่อสารผ่านดาวเทียม และโซลูชันไอโอที จากประเทศสหรัฐอเมริกาไปเมื่อ 28 มี.ค.2565

วานนี้ (20 ธ.ค.66) ไทยคมได้เปิดตัว ‘สถานีดาวเทียม LEO ไทยคม - โกลบอลสตาร์’ ซึ่งเป็นสถานีภาคพื้นดินเพื่อให้บริการระบบดาวเทียม Low Earth Orbit (LEO) Satellite Constellation แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ สถานีบริการภาคพื้นดินไทยคม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี มุ่งเน้นบริการเชิงพาณิชย์จากระบบดาวเทียม LEO ในประเทศไทย และระดับภูมิภาคในแถบซีแอลเอ็มวี (CLMV)

สำหรับสถานีดาวเทียมแห่งนี้ ไทยคม และโกลบอลสตาร์ มีอายุความร่วมมือ 10 ปี ไทยคมมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ให้บริการที่เชื่อมโยงกับระบบดาวเทียม LEO ของโกลบอลสตาร์เพียงรายเดียวในไทย มุ่งเน้นโซลูชันจัดการความปลอดภัยสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวในไทย รวมถึงอุตสาหกรรมทางทะเลในระดับภูมิภาค ความมั่นคง และพร้อมพัฒนา คิดค้นบริการรวมถึงโซลูชันอื่นให้ครอบคลุมในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย

สถานีภาคพื้นดินแห่งแรกในไทย

‘สถานีดาวเทียม LEO ไทยคม - โกลบอลสตาร์’ ในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของไทยคม และโกลบอลสตาร์ ที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง ในการร่วมกันพัฒนาโซลูชัน และบริการจากระบบดาวเทียม LEO เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในไทย และในระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างความได้เปรียบการแข่งขันในอุตสาหกรรมดาวเทียม และเทคโนโลยีอวกาศให้ทั้งสองบริษัท สถานีดาวเทียม LEO ไทยคม-โกลบอลสตาร์ จะเป็นสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินแห่งแรกในไทย และโกลบอลสตาร์เป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์ทุกอย่าง

“ปฐมภพ สุวรรณศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมได้เอ็กซ์คลูซีฟรายเดียวในไทย และประเทศในแถบภูมิภาคในการขายอุปกรณ์ และโซลูชัน ของโกลบอลสตาร์ จะมีอุปกรณ์ติดตาม หรือแทคกิ้ง ที่ไม่ต้องใช้สัญญาณมือถือ แต่ใช้การยิงสัญญาณ ขึ้นดาวเทียมโดยตรง เป็นประโยชน์ในการใช้เรื่องความปลอดภัยส่วนตัว นักท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าเขา ทะเล ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถ กด SOS ขอความช่วยเหลือ ระบบจะแจ้งพิกัดได้โดยตรงขึ้นดาวเทียมไปยังเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน โดยดาวเทียม LEO ที่จะวิ่งรับส่งสัญญาณกับสถานีแห่งนี้ มีทั้งหมด 24 ดวง และจะเป็นเพิ่มเป็น 48 ดวงในอนาคตตามแผนธุรกิจของโกลบอลสตาร์

"ความร่วมมือครั้งนี้เป็นแบบเอ็กคลูซีฟรายเดียวในไทย และภูมิภาคอินโดจีนตอบสนองความต้องการลูกค้าในไทย และในระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ทั้งสร้างความได้เปรียบแข่งขันในอุตสาหกรรมดาวเทียม และเทคโนโลยีอวกาศให้ทั้งสองบริษัท โดยเป็นการขายอุปกรณ์ ค่าแอร์ไทม์ คาดว่าปีแรกจะมีรายได้จากความร่วมมือราว 200 ล้านบาท

ซึ่งอยู่ในส่วนรายได้ธุรกิจสเปซ เทคโนโลยีคิดเป็นรายได้ 10% ของรายได้รวมไทยคม และจะเพิ่มเป็น 30% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าซึ่งสามารถขยายเป็นธุรกิจหลักได้ในอนาคต เนื่องจากมีศักยภาพโดยปัจจุบันรายได้หลักมาจากดาวเทียมบรอดแบนด์ 40% และมาจากดาวเทียมบรอดแคสต์ 60%"

ต่อยอดธุรกิจวงโคจรต่ำ

เขากล่าวว่า หลังที่ไทยคมหมดสัญญาสัมปทานกับภาครัฐ ไทยคมมองหาธุรกิจอื่นนอกเหนือจากดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary Orbit หรือ GEO) คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียม LEO เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร และล่าสุดไทยคมได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) ให้จัดสร้างสถานีเกตเวย์ในภูมิภาคอาเซียนสำหรับ “One Web” เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์จากอังกฤษ มีเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในซึ่งในจะมีความชัดเจนในปี 2567

ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เช่น ประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้าอนาไลติกส์ จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ ทำให้เกิด “บิ๊กดาต้า” ที่นำมาใช้ประโยชน์หลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งไทยคมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจระยะไกล (Remote Sensing Satellite) มาวิเคราะห์โดยใช้ “เอไอ” สร้างข้อมูลและโมเดลระบบวิเคราะห์ ประมวลผลเพื่องานประกันภัยพืชผลด้วย

วาดโรแมปแผนดาวเทียมดวงใหม่

ปฐมภพ ยังกล่าวถึงแผนธุรกิจล่าสุดหลังจากประมูลวงโคจรจากสำนักงาน กสทช. ว่า เฟสแรกในการสร้างดาวเทียมตามที่ระบุเป็น 3 ดวง แบ่งเป็นขนาดเล็ก (10 Gbps) จำนวน 2 ดวง คาดว่ามีมูลค่ารวม 65.6 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,181 ล้านบาทต่อดวง ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 มีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี

เฟสที่ 2 มีแผนก่อสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ (100 Gbps) คาดว่ามีมูลค่า 238.3 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7,917 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2570 อายุการใช้งานประมาณ 15-16 ปี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์