เทรนด์ใหญ่ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี2567 ‘ต่างชาติ’ ผูกขาดเบ็ดเสร็จ-สินค้าจีนทะลัก

เทรนด์ใหญ่ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ปี2567  ‘ต่างชาติ’ ผูกขาดเบ็ดเสร็จ-สินค้าจีนทะลัก

โลกการค้าออนไลน์ของไทย ปรับตัวอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น การซื้อสินค้าออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ การเข้ามาของแพลตฟอร์มโซเชียล ระดับโลกเป็นนับเป็นช่องทางสำคัญโหมกระพือให้การค้าออนไลน์ ได้รับความนิยมขึ้น

Key Points : 

  • ศก.ดิจิทัลไทย สะพัด 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ตลาดไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน
  • 'อีคอมเมิร์ซ’ ไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติเบ็ดเสร็จ สินค้าจีนทะลัก
  • จับตา สงคราม Live Commerce-Entertainmerce

โลกการค้าออนไลน์ของไทย ปรับตัวเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จนการซื้อสินค้าออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนทำธุรกิจค้าขายสินค้าต้องปรับตัว

การเข้ามาของแพลตฟอร์มโซเชียล ระดับโลกเป็นนับเป็นช่องทางสำคัญโหมกระพือให้การค้าออนไลน์ ได้รับความนิยมมากขึ้น การไลฟ์ขายของกลายเป็นวิธีปกติของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในวันนี้

ขณะที่ รายงาน “e-Conomy SEA 2023” ฉบับล่าสุดเผยว่า ปี 2566 เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย จะมีมูลค่าราว 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ เติบโต 16% จากปีที่ผ่านมา ตลาดไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองอินโดนีเซีย และคาดว่าปี 2568 จะทะยานไปแตะ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และพุ่งสู่ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2573

 

‘อีคอมเมิร์ซ’ ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง TARAD.com ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย วิเคราะห์เทรนด์การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซในไทยไว้อย่างน่าสนใจถึง 12 เทรนด์

1.'อีคอมเมิร์ซ’ ไทยถูกผูกขาดโดยต่างชาติโดยสมบูรณ์ ปัจจุบันการค้าขายออนไลน์ในไทยช่องทางที่ใหญ่ที่สุด คือการซื้อขายผ่านอีมาร์เก็ตเพลส รองลงมา คือ ทางโซเชียลคอมเมิร์ซ ซึ่งปีนี้การซื้อขายผ่านทางแอปสั่งอาหารหรือ ‘ออนดีมานด์ คอมเมิร์ซ’ กลายเป็นช่องทางใหม่ที่คนไทยนิยมซื้อสินค้า

 

"ทั้งหมดล้วนและเป็นช่องทาง ที่มีผู้ให้บริการจากต่างประเทศทั้งสิ้น แทบไม่มีของประเทศเลย บรรดาผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสต่างเริ่มทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ หลังขาดทุนติดต่อหลายปีเป็นหมื่นล้าน การมาของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศไม่ได้มาแค่ตลาดนัดซื้อขาย แต่หากดูดีๆ เขามาครบทั้งระบบนิเวศการค้าออนไลน์"

ภาวุธ ยกตัวอย่าง เช่น ซื้อ (Buy) ผ่านทางมาร์เก็ตเพลส (ช้อปปี้ , ลาซาด้า) จ่าย (Pay) ผ่านบริการชำระเงินของตัวเอง (ช้อปปี้ เพย์, ลาซเพย์) ส่ง (Delivery) ผ่านบริการบริษัทส่งของๆ ตัวเอง (ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส, ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส) เมื่อมาครบทั้งระบบนิเวศทำให้บริษัทเหล่านี้มีความได้เปรียบกว่าบริษัทอื่นๆ ที่มีให้บริการแค่เฉพาะทางเท่านั้น เมื่อยักษ์ใหญ่โลกการค้าออนไลน์ควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้เบ็ดเสร็จ จึงเริ่มเข้าสู่การฮั๊วและขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ยังมีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาคือติ๊กต็อก (TikTok) ที่เริ่มกลายเป็นช่องทางซื้อสินค้าของคนยุคใหม่ ทำให้การแข่งขันของการค้าออนไลน์เริ่มรุนแรงมากขึ้น

2.ส่งสินค้าแข่งดุ ขาดทุนแทบทุกราย ปัจจุบันการส่งสินค้ากลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการค้าออนไลน์ โดยเมื่อพิจารณาจากกำไรขาดทุนของธุรกิจขนส่งในประเทศไทยจะเห็นได้ว่าแทบทุกเจ้าขาดทุนอย่างหนักหน่วง เช่น ไปรษณีย์ไทยขาดทุนเกือบ 20,000 ล้าน หรือ เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส และแฟลช เอ็กซ์เพรส ที่ขาดทุนนับหมื่นล้านเช่นเดียวกัน

แต่ต้องยกเว้นให้กับเจ้าที่มีการให้บริการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำเป็นปลายน้ำ (Full Service E-Commerce) ตัวอย่างเช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า รวมไปถึง แจแอนด์ที (J&T) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งของ TikTok กลุ่มนี้จะมีความได้เปรียบเพราะมีบริการตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ บริษัทในกลุ่ม Full Service E-Commerce จึงสามารถสร้างกำไรและความได้เปรียบสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทขนส่งเพียงอย่างเดียว

3.สงคราม Live Commerce-Entertainmerce พฤติกรรมคนไทย เปลี่ยนไปซื้อสินค้าผ่านทางการดูวีดีโอสั้น หรือไลฟ์ คอมเมิร์ซมากขึ้น เมื่อก่อนคนไทยจะนิยมซื้อสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊คไลฟ์กันมาก แต่ปัจจุบันการมาของติ๊กต็อกที่ผนวกเอาการค้าออนไลน์เข้าไปในคลิปสั้น (การติดตะกร้า) หรือบริการ ติ๊กต็อก ช็อป ทำให้พ่อค้าแม่ค้า สามารถขายสินค้าผ่านทางติ๊กต็อกได้ง่ายมากขึ้น

การซื้อสินค้าผ่านทางติ๊กต็อก เป็นการซื้อแบบไม่ได้ตั้งใจซื้อ เรียกว่า “โดนโน้มน้าวเพื่อซื้อ (Influence Buying)” เพราะคนที่มีเวลาว่าง มักเปิดดูคลิปสั้นในติ๊กต็อก และในคลิปสั้นจะสอดแทรกการขายสินค้าลงไปด้วย และด้วยรูปแบบการนำเสนอของคนที่ขายของในติ๊กต็อกน่าสนใจและดึงดูด เรียกได้ว่า “Entertainmerce การค้าผ่านความบันเทิง”

ส่วนคนที่มีความตั้งใจที่จะซื้อ (Intend Buying) มักไปซื้อสินค้าในอีมาร์เก็ตเพลสมากกว่า เพราะด้วยจำนวนสินค้าที่มีความหลากหลายและมีมากกว่า รวมไปถึงราคาสินค้าที่ถูกกว่า

4.KOL Commerce การค้าผ่านคนดังคนน่าเชื่อถือ ปัจจุบันคนไทยนิยมติดตามคนดัง คนที่มีชื่อเสียงทางออนไลน์ หรือเรียกว่า KOL (Key Opinion Leader) บางคนอาจจะเรียกว่าอินฟลู (Influencer)กลุ่มคนเหล่านี้มีฐานคนติดตามอยู่มาก และเมื่อคนเหล่านี้เริ่มมีการพูดถึงสินค้าและบริการต่างๆ จะมีคนเชื่อและสนใจซื้อสินค้าตามคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ทำให้ตอนนี้เริ่มมีการเปิดเป็นบริการเหมือนเอเยนซี่รวบรวมเหล่าคนดังเอาไว้

เมื่อเจ้าของสินค้าต้องการจะขายสินค้าตัวเองทางออนไลน์ ก็มีการส่งคนเราเข้าไปช่วยขายและโปรโมทสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยจะมีการคิดค่าบริการในรูปแบบของส่วนแบ่งทางการค้า (Commission) บริการลักษณะนี้เรียกว่า MCN (Multi Channel Network) เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย

5.Affiliate Commerce ฝากคนอื่นขาย ง่ายกว่าขายเอง หรือ การค้าผ่านตัวแทน” ปัจจุบันเริ่มมีแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการผ่านระบบนี้มากขึ้น วิธีง่ายๆ นำสินค้าไปใส่ไว้ในแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ หลังจากนั้นกำหนดราคาสินค้า รายละเอียดและรูปภาพสินค้า กำหนดค่าคอมมิชชั่นของสินค้าชิ้นนั้นๆ

“ค่าคอมมิชชั่น คือ เมื่อมีการขายสินค้าชิ้นนี้ได้ผู้ขายจะได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่โดยส่วนใหญ่จะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ผมขายแชมพูลดผมร่วง ขวดละ 100 บาท ผมให้ค่าคอมมิชชั่น 20% ดังนั้นคนที่เอาสินค้าของผมไปขายได้ เขาจะได้ 20 บาทจากทุกรายการคำสั่งซื้อ 1 ขวด” ภาวุธ อธิบาย

รูปแบบการขายส่วนใหญ่เป็นการขายผ่านทางออนไลน์ ทำให้ตัวแทนสินค้ามาสมัครและเลือกสินค้าของเราไปขายผ่านแพลตฟอร์ม และตัวแทนนำสินค้าเราไปเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ของตัวแทนและคนเหล่านั้น เช่น ผ่านทางติ๊กต็อก ช่องทางออนไลน์อื่น เมื่อมีคนสนใจและกดสั่งซื้อ คำสั่งซื้อจะถูกส่งผ่านแพลต์ฟอร์ม มาให้เรารู้ จากนั้นเราก็ส่งสินค้าไปให้คนที่สั่งซื้อ และระบบแพลตฟอร์มจะคำนวณและหักส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นให้คนที่นำเสนอสินค้าของเราโดยอัตโนมัติ

6.สินค้าจีนยังบุกไทยต่อเนื่อง สินค้าจีนยังคงบุกไทยต่อเนื่อง จากการเชื่อมต่อของระบบขนส่งจากประเทศจีนมาไทยได้ง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งใช้กลไกช่องว่างไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้า โดยการนำสินค้าไปวางไว้ในโกดังพื้นที่ เขตปลอดอากร (FreeZone) ทำให้สินค้าจีนที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยได้เปรียบกว่าสินค้าในประเทศ หรือผู้ที่นำเข้าเสียภาษีอย่างถูกต้อง

การมาของสินค้าจีนจะเริ่มเปลี่ยนรูปแบบ เป็นสินค้าที่มีแบรนด์ มีมาตรฐาน และทำถูกต้องมากขึ้น ซึ่งการมารูปแบบนี้จะเข้ามาแข่งขันกับลูกค้าคนไทยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสินค้าจีนจะมีความได้เปรียบคือเรื่องราคา ดังนั้นผู้ประกอบการที่ขายสินค้าเหมือนกับสินค้าจริงต้องปรับตัว หรืออาจจะต้องปรับธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของการแข่งขันการค้าที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น

7.อีคอมเมิร์ซ ออโตเมชั่น และ เอไอ การค้าขายออนไลน์ปัจจุบัน สามารถใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มให้บริการเชื่อมต่อทุกช่องทางออนไลน์ ทั้งมาร์เก็ตเพลส ช้อปปี้ ลาซาด้า หรือติ๊กต็อก รวมถึงเชื่อมต่อระบบแชทที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาได้หลากหลายช่องทาง

ทั้งยังเชื่อมต่อบริษัทขนส่งที่หลากหลาย รวมไปถึงระบบต่างๆที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจ เช่น ระบบบัญชี ระบบคอลเซ็นเตอร์ ระบบซีอาร์เอ็มที่ใช้ดูแลลูกค้า รวมไปถึงการเชื่อมต่อเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์รูปแบบใหม่ๆ หรือ MarTech (Marketing Technology)

และด้วยเทคโนโลยี เอไอ ที่กำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ที่ค้าขายออนไลน์จำเป็นต้องใช้เอไอกับทุกขั้นตอนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้เอไอในการวางกลยุทธ์ แผนการตลาด สร้างรูปภาพสินค้าและพรีเซ็นเตอร์

8.เพิ่มการซื้อซ้ำผ่าน CDP Commerce ช่องทางการค้าออนไลน์ที่หลากหลาย ทำให้ข้อมูลของลูกค้ากระจัดกระจายทำให้การติดต่อและการเข้าใจลูกค้าเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงต้องการระบบรวมศูนย์ข้อมูลลูกค้าไว้ที่เดียวเพื่อต้องการจะบริหารจัดการครอบครัวลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การมาของ CDP (Customer Data Platform) คือ เครื่องมือที่จะช่วยรวบรวมและจัดการข้อมูลลูกค้าจากหลากหลายแหล่งช่องทางมารวมไว้ที่เดียว ซึ่งในที่นี้จะมีข้อมูลลูกค้า ข้อมูลการสั่งซื้อ ข้อมูลการติดต่อ ข้อมูลพฤติกรรม ทำให้เราสามารถเข้าใจลูกค้าเราได้ดีมากขึ้น

9.รวยแต่เด็กด้วยออนไลน์ Online Young Selfmade Rich ปัจจัยทั้งหมด ทำให้การทำธุรกิจออนไลน์วันนี้ทำง่ายมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆที่สนใจอยากเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์สามารถเริ่มต้นได้ทันที ด้วยต้นทุนและงบประมาณที่ต่ำ เราจึงเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆที่สามารถสร้างยอดขายได้เป็นนับร้อยล้านเป็นจำนวนมาก ผ่านการทำธุรกิจทางออนไลน์

10.ต้องการซื้อสินค้า “ทันที” กับ On Demand Commerce การสั่งผ่านแอปสั่งอาหาร และสินค้าออนไลน์ กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตต่อเนื่อง และเริ่มขยายบริการออกไปยังสินค้าอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าสด สินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต และตามร้านค้าใกล้บ้าน ทำให้แอปสั่งซื้ออาหารและสินค้ากำลังกลายเป็นช่องทางใหม่ พ่อค้าแม่ค้าสามารถขยายเป็นช่องทางการขายอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะตอบโจทย์กับพฤติกรรมคนที่ต้องการสินค้า “ทันที”

11.การค้าแบบสมัครสมาชิก เก็บเงินทุกเดือนอัตโนมัติ Subscription Commerce การขายสินค้าและบริการ หากสามารถล็อคให้ลูกค้าอยู่กับคุณได้ระยะยาว จะช่วยสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง การแบ่งค่าสินค้าและบริการออกเป็นรายเดือน จะทำให้ราคาถูกลง และคุณสามารถเก็บเงินได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เรียกการเก็บเงินรูปแบบนี้ว่า การเก็บเงินแบบสมัครสมาชิก (Subscription) หรือ การหักเงินอัตโนมัติรายเดือน (Recurring Payment)

"เป็นรูปแบบเดียวกับธุรกิจของเน็ตฟลิกซ์ ที่สามารถดูหนังได้ไม่อั้นโดยใช้จ่ายเดือนเพียงไม่กี่ร้อยบาท หรือบริการ ไอคลาวด์ของ แอปเปิ้ลที่จ่ายเดือนละไม่กี่สิบบาท ก็จะได้คืนที่เก็บข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่บริการทั้งหมดนี้ เป็นบริการที่คุณต้องการรายเดือนเดือนละไม่กี่บาท แต่ต้องจ่ายต่อเนื่องถึงจะใช้บริการได้ แต่ปัจจุบันสามารถเก็บเงินลูกค้าแบบสมัครสมาชิกรายเดือน ให้ลูกค้าผูกบัตรเครดิต จากนั้นระบบจะตัดเงินบัตรเครดิตอัตโนมัติทุกเดือน"

12.D2C ขายตรงสู่ผู้บริโภคโอกาสใหม่ของผู้ผลิต ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางการขายค้าปลีกแบบเดิมๆ ที่ต้องผ่านระบบซัพพลายเชน หรือช่องทางการค้าที่เคยใช้มาช้านาน เช่น เครือข่ายค้าส่ง ตัวแทนกระจายสินค้า เครือข่ายค้าปลีก ผู้ผลิตสามารถขายตรงไปยังผู้บริโภคได้เลย ผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านค้าของแบรนด์ตัวเองผ่านมาร์เก็ตเพลส หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้ผลิตสามารถขายตรงยังผู้บริโภค โดยที่สามารถลดต้นทุนจากการจ่ายให้กับเครือข่ายค้าปลีกแบบเดิมๆ