‘อีคอมเมิร์ซ-ค้าปลีกไอที’ ปรับแผนรับ ‘เศรษฐกิจขาลง - กำลังซื้อฝืด’

‘อีคอมเมิร์ซ-ค้าปลีกไอที’ ปรับแผนรับ ‘เศรษฐกิจขาลง - กำลังซื้อฝืด’

กำลังซื้อในกลุ่ม ‘อีคอมเมิร์ซ' หนึ่งในช่องทางหลักการจับจ่ายซื้อสินค้า ‘น่าจับตา’ เป็นอย่างยิ่ง หลังการประกาศเลย์ออฟพนักงานของยักษ์อีคอมเมิร์ซ ‘ลาซาด้า’ และอาจลุกลามไปถึง ‘คู่แข่ง’ ที่มีข่าวสะพัดว่าแนวโน้มไม่ค่อยดีเช่นกัน

Key Points :

  • จับตากลุ่ม 'อีคอมเมิร์ซ' ปรับแผนรับกำลังซื้อฝืด พฤติกรรมคนซื้อเปลี่ยน 
  • 'ติ๊กต็อก' มาแรง กลายเป็นช่องทางการซื้อสินค้า-ขายสินค้า 
  • ร้านค้าปลีกไอที เชื่อตลาดยังไปได้ จับตาปัจจัยลบ เศรษฐกิจ ดอกเบี้ย หนี้ครัวเรือน คนชะลอใช้จ่าย

กำลังซื้อในกลุ่ม ‘อีคอมเมิร์ซ' หนึ่งในช่องทางหลักการจับจ่ายซื้อสินค้า ‘น่าจับตา’ เป็นอย่างยิ่ง หลังการประกาศเลย์ออฟพนักงานของยักษ์อีคอมเมิร์ซ ‘ลาซาด้า’ และอาจลุกลามไปถึง ‘คู่แข่ง’ ที่มีข่าวสะพัดว่าแนวโน้มไม่ค่อยดีเช่นกัน

กระแสดังกล่าว สะท้อนถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในสมรภูมิการค้าออนไลน์ ทั้งความท้าทายเชิงเทคโนโลยี การเข้ามาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่  รูปแบบการขายใหม่ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า และโจทย์ใหญ่ที่สุด คือ วิกฤติเศรษฐกิจ กำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค

แหล่งข่าวในวงการอีคอมเมิร์ซ วิเคราะห์ว่า เทศกาลใหญ่อย่างมหกรรมชอปปิง เช่น 9.9 ,12.12 ซึ่งเป็นเทศกาลทำเงินของอีคอมเมิร์ซ เริ่มได้รับความสนใจน้อยลง บรรดาอีมาร์เก็ตเพลส ใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายได้น้อยลงกว่าเดิม

แม้คาดการณ์จากหลายสำนักวิจัยจะประเมินว่า อีคอมเมิร์ซ ยังมีแนวโน้มโตได้ต่อเนื่อง อย่างการวิเคราะห์ของ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Compass) ระบุว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่า 6.2 แสนล้านบาทในปี 2565 และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องปีละ 6% ไปอยู่ที่ 6.34-6.94 แสนล้านบาทระหว่างปี 2566-2567

พร้อมระบุว่า ปัจจุบัน คนไทยมากกว่าครึ่งเคยซื้อสินค้าบริการผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาคนไทยมีผู้ใช้งานสูงขึ้นจาก 30.7 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 41.5 ล้านคนในปี 2566 แรงผลักดันจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมประชากรไทยมากขึ้น

ซื้อของถูกในโลกออนไลน์-‘ติ๊กต็อก’แรง

ข้อมูลชี้ว่า อีคอมเมิร์ซยังคงได้รับความนิยม สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าบริการผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากปีละ 2,970 บาทต่อคนในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 8,840 บาทต่อคนในปี 2566

หากสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นเหตุผลให้ คนยังหันมาเลือกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะมี ‘ราคาที่ถูก’ กว่าช่องทางปกติ รวมถึงการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนทำราคาขายได้ถูกกว่า เป็นเหตุผลให้คนยังคงเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ต่อเนื่อง

 

“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซไทย วิเคราะห์ว่า อีคอมเมิร์ซไทย ยังคงมีการเติบโต โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลใหม่ที่เข้ามา อย่าง ติ๊กต็อก ที่เริ่มกลายเป็นช่องทางการซื้อสินค้าของคนยุคใหม่

รวมไปถึงรูปแบบวิธีการขาย เช่น การค้าผ่านคนดังคนน่าเชื่อถือ ปัจจุบันคนไทยนิยมติดตามคนดัง คนที่มีชื่อเสียงทางออนไลน์ หรือเรียกว่า KOL (Key Opinion Leader) บางคนอาจจะเรียกว่าอินฟลู (Influencer) กลุ่มนี้จะมีฐานคนติดตามอยู่มาก และเมื่อคนเหล่านี้เริ่มมีการพูดถึงสินค้าและบริการต่างๆ จะมีคนเชื่อและสนใจซื้อสินค้าตามคนเหล่านี้เป็นจำนวนมาก กระแสนี้เองทำให้ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งใจจะเป็นคนดังในโลกออนไลน์หรือ KOL เพื่อขายสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ และสร้างรายได้ให้กับตัวเอง เหล่านี้ส่งผลให้การแข่งขันของการค้าออนไลน์เริ่มรุนแรงมากขึ้น

ในอีกด้าน ปัจจุบันยักษ์อีคอมเมิร์ซที่ครองตลาดอยู่เดิม ก็สามารถควบคุมตลาดซื้อขายออนไลน์ได้เบ็ดเสร็จ ตลาดจึงเริ่มเข้าสู่การฮั้ว และขึ้นราคาค่าบริการ โดยเฉลี่ยมีการขึ้นราคาค่าบริการสูงถึง 150% ภายในเวลาเพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น

อีคอมเมิร์ซท่ามกลางวิกฤติ

“ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย” เปิดบทวิเคราะห์สำคัญ อีคอมเมิร์ซท่ามกลางระบบเศรษฐกิจเงินเฟ้อรุนแรง และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยพบว่า 1.งบประมาณของผู้บริโภคจะลดลง 2. “ความคุ้มค่า” คือสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด 3.ความภักดีต่อแบรนด์จะลดลง 4.กรีนชอปปิง คือ เทรนด์ที่มาแรง และ 5.ธุรกิจต่างๆ จะเผชิญกับความท้าทายด้านซัพพลายเชนมากขึ้น

เทศกาลใหญ่อย่าง Black Friday และคริสมาสต์ คือ จุดเริ่มต้นของการสร้างยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะต้องต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงระบบซัพพลายเชนที่ไม่แน่นอน และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม

งบประมาณผู้บริโภคลดลง

ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเมินความพร้อม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยมองว่า พฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคในช่วงพีคซีซั่นปลายปี งบประมาณของผู้บริโภคจะลดลง จากเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้ซื้อทั่วโลกกว่า 42% จึงวางแผนเริ่มต้นซื้อของขวัญสำหรับช่วงเทศกาลวันหยุดแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ราคาจะสูงขึ้น หลายคนตั้งใจลดจำนวนเงินที่ใช้จ่ายฉุดยอดใช้จ่ายช่วงเทศกาลช้อปปิ้งจะลดลงในปีนี้

สิ่งที่ธุรกิจควรรับมือ คือ การทบทวนกลยุทธ์ราคา เพื่อให้แน่ใจว่าแข่งขันได้ ขณะที่ ผู้บริโภคจะมองเรื่องความคุ้มค่ามากขึ้น ลูกค้าจะใช้เวลานานขึ้นในการพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ดีเอชแอลฯ ยังประเมินว่า ความภักดีต่อแบรนด์จะลดลลง และ “ราคา” คือสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญสูงสุด ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีแนวโน้มที่จะ “นอกใจ” แบรนด์ที่เคยซื้อเป็นประจำ และหันไปเลือกซื้อสินค้าที่ให้โปรโมชั่นที่ดีที่สุดแทน ขณะที่ลูกค้าก็มีแนวโน้มไปซื้อแบรนด์ที่ราคาถูกกว่า

สิ่งที่ธุรกิจควรรับมือ คือ การให้ ‘ประสบการณ์ของลูกค้า’ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ และดึงดูดลูกค้ารายใหม่ พิจารณาเรื่องการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) จึงเป็นสิ่งจำเป็น

‘อีคอมเมิร์ซ-ค้าปลีกไอที’ ปรับแผนรับ ‘เศรษฐกิจขาลง - กำลังซื้อฝืด’

ค้าปลีกไอทีรายใหญ่ ‘แอดไวซ์’ มอง‘ศก-หนี้ครัวเรือน’ปัจจัยฉุดตลาด

‘จักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์’ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายสินค้าไอทีที่มีหน้าร้านครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดของประเทศ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดไอทีประเทศไทยปี 2567 นี้ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

เขากล่าวว่า ปี 2566 ตลาดไอทีกลุ่มคอนซูมเมอร์ตกลงราว 15-20% ส่วนกลุ่มองค์กรเติบโตขึ้นเล็กน้อยเป็นตัวเลขหลักเดียวประมาณ 5-7% ส่งผลทำให้โดยภาพรวมลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีทั้งผลพวงจากโควิด การเวิร์คฟรอมโฮมและเรียนออนไลน์จากที่บ้านที่ทำให้ตลาดโน๊ตบุ๊กและอุปกรณ์ไอทีสำหรับการเรียนและทำงานเติบโตแบบก้าวกระโดดไปก่อนหน้านี้ และด้วยภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ด้านการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอนทำให้ผู้บริโภคใช้สินค้านานขึ้นไม่รีบที่จะเปลี่ยนใหม่

อย่างไรก็ดี ปีนี้ยังพอมองเห็นว่ามีปัจจัยบวก เช่นการมาของซีพียูเจนใหม่ของค่ายอินเทล รวมถึงเอเอ็มดี โดยเฉพาะการเติบโตของเทคโนโลยีเอไอที่จะเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจทำให้กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นได้

นอกจากนี้ หากการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่เงินหนุนเวียนฝั่งธุรกิจและการจับจ่ายสินค้าไอทีภายในประเทศเทศกระเตื้องเพิ่มมากขึ้นตาม

อีกทางหนึ่งยังต้องจับตาดูเรื่องการจัดสรรงบประมาณ รวมถึงมาตรการภาครัฐ ที่นอกจากโครงการลดหย่อนภาษีแล้ว จะมีมาตรการด้านภาษี การลงทุน การเงิน และนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ หรือไม่อย่างไร

ส่วนปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังนอกจากเรื่องของเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และดอกเบี้ย ที่น่ากังวลอย่างมากคือ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความลังเลไม่กล้าใช้จ่ายและยอมที่จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ นานขึ้น