“ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์” เบื้องหลัง สร้างวัฒนธรรม ‘ทรู-ดีแทค’ ให้เป็นหนึ่ง
เจาะใจ “ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์” แม่ทัพหญิงแห่ง ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้นำคนสำคัญ สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่ง เพื่อการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ Telco-Tech Company
ปัจจุบัน ‘ศรินทร์รา' นั่งในตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้บริหารหญิงมากประสบการณ์ สั่งสมประสบการณ์ทำงานมาอย่างเจนจัด ทว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมครั้งใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับบทบาทการบริหารบุคลากรกลับเป็นความท้าทายที่ทรหดที่สุด
‘กรุงเทพธุรกิจ’ ชวนทำความรู้จัก ‘ศรินทร์รา’ พร้อมมุมมองหลากประเด็น
สองยักษ์โทรคมรวมกัน
ด้วยสเกลการควบรวมขนาดใหญ่ที่มีฐานลูกค้ารวมกัน ระหว่างทรูและดีแทค 51.4 ล้านราย (เฉพาะบริการโมบาย) ดังนั้น ภารกิจสำคัญแรก จึงเป็นเรื่องการทำให้มั่นใจว่าคุณภาพการบริการจะไม่ได้รับผลกระทบ ในช่วงเวลาที่พนักงานกว่า 10,000 คนปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่ ปรับใช้ระบบใหม่ และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงองค์กร
“ทรูและดีแทคมีความแตกต่างอยู่มาก ด้านหนึ่งก็เป็นกลุ่มบริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ ส่วนอีกด้านก็มีความเป็นตะวันตกมาก ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญ ทำให้ 2 ฝั่งหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว บุคลากรทุกคนต้องเชื่อมั่นในเป้าหมายและวิสัยทัศน์แห่งการเป็นผู้นำ Telecom-Tech ทุกคนต้องรู้สึกมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันผลักดัน ให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องสร้างแพสชั่นที่แท้จริง ซึ่งเริ่มจากสิ่งเรียกว่า วัฒนธรรม” ศรินทร์รา อธิบาย
นับตั้งแต่การควบรวมสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทรูคอร์ปได้จัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานทั้งจากทรูและดีแทคมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในมิติต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงพุดคุยกับพนักงานอย่างเป็นกันเอง
“รางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพี่ คือ เมื่อผู้คนในองค์กรรู้สึกได้ถึงวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ก่อตัวขึ้น ปรับปรุงคุณภาพชีวิตในที่ทำงานให้ดียิ่งขึ้น อย่างกิจกรรมที่จัดขึ้นล่าสุด มีน้องๆ พนักงานบอกพี่ว่า ตอนนี้พวกเราสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา เรา Work Hard Play Hard มันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ซึ่งสำหรับพี่ การได้ยินสิ่งเหล่านี้ถือว่าคุ้มค่ากับความทุ่มเทที่ให้ไป”
กลยุทธ์วัฒนธรรมองค์กรชุดใหม่
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ‘ศรินทร์รา’ ในฐานะแม่งานสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เริ่มต้นจาก “การนิยาม” วัฒนธรรมองค์กรชุดใหม่ ซึ่งยึดโยงกับค่านิยม 4 ประการ ได้แก่ Compassion, Credibility, Co-Creation และ Courage เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการระดมสมองจากผู้บริหารระดับสูง เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย-วิสัยทัศน์สำหรับบริษัทใหม่
“วัฒนธรรมเริ่มต้นจากบนลงล่าง หากเริ่มต้นผิด คุณจะไม่สามารถพิชิตเป้าหมายได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการหารือกับคณะผู้บริหารระดับสูง เพื่อร่วมกำหนด 3 เป้าหมายสำคัญสำหรับการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรนี้ 1. One team with trust and respect เราเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นหัวใจแห่งความเชื่อมั่นและความเคารพต่อกันและทำงานเป็นทีมเดียวกัน
2. Performance Driven Organization เราเป็นองคก์รที่มุ่งเน้น ผลลัพธ์โดยมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และมีกาารวัดผลอย่างต่อเนื่อง และ 3. Being customer-centric เราคำนึงถึงความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักในการดำเนินงาน จากเป้าหมายที่วางไว้ตีความออกมาเป็นคุณค่า 4C เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมพนักงาน แฮกาธอน และตัวชี้วัดทรัพยากรบุคคล” ศรินทร์รา อธิบาย
สำหรับวัฒนธรรม 4C ที่กล่าวมานั้น ‘ศิรินทร์รา’ เน้นย้ำถึง Compassion มาก การควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงควบรวมทางธุรกิจครั้งที่ 3 ในชีวิตการทำงานของเธอ ทำให้เข้าใจถึงความตึงเครียดที่มีในกลุ่มพนักงาน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทีมงานให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วที่มาพร้อมกับการสนับสนุนในด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความผาสุกของพนักงานในองค์กร
“เราควรมีความเห็นอกเห็นใจกันทุกการกระทำ เห็นส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีกิจกรรมที่ให้ผู้บริหารระดับสูงและพนักงานได้มีโอกาสพบปะพูดคุย เป็นเรื่องการสร้างความคุ้นเคยและทำลายกำแพง และอีกวิธีที่เราใช้ในการแสดงออกซึ่ง Compassion ก็คือ การที่เราให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของพนักงานมากขึ้น"
เดินหน้าสู่ยุค เอไอ แห่งอนาคต
หลังการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทรูและดีแทคเป็นระยะเวลาร่วมปี แนวทางในปี 2567 จะต่างออกไปจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ เน้นการส่งมอบคุณประโยชน์ที่ลูกค้าจับต้องได้ เพื่อให้เราเข้าใกล้เป้าหมายการเป็นผู้ให้บริการ Telco-Tech ชั้นนำของภูมิภาคมากขึ้น
“ในขวบปีแรกจะเน้นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อหลอมผู้คนรู้จักกันมากขึ้น เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่ตอนนี้ เราต้องการสร้างสิ่งที่ยั่งยืนขึ้น ระยะยาวมากขึ้น ซึ่งนั่นคือการส่งต่อวัฒนธรรม 4C ผ่านไปยังลูกค้าในวิถีต่างๆ”
เธอย้ำว่า “ดาต้า” จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อก้าวสู่ Telecom-Tech Company ซึ่งเธอได้รับ data scientist (นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล) เข้ามาอยู่ในทีมทรัพยากรบุคคล และมีแผนขยายรูปแบบการทำงานดังกล่าวไปทั้งบริษัท
“เรากำลังหารือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างฮาวาร์ด และ MIT เพื่อนำเอาวิธีการเทรนนิ่งด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลมาใช้กับองค์กรของเรา และด้วยวิวัฒนาการการใช้ เอไอ ในการทำงาน เราจึงจำเป็นต้องสร้างทักษะแห่งความเป็นผู้นำชุดใหม่ เป็นเหตุผลว่าทำไมการคิดเชิงวิพากษ์ จึงเป็นหนึ่งในทักษะที่ต้องการมากที่สุดในการทำงาน คุณอาจมีชุดดาต้าปริมาณมหาศาล แต่สิ่งนั้นจะไม่เป็นประโยชน์เลย ถ้าคุณไม่สามารถตั้งและทดสอบสมมติฐานนั้นได้” ศรินทร์รา เน้นย้ำ
‘ศรินทร์รา’ ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง True Digital Academy ซึ่งปัจจุบันเป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่ในการรีสกิลทักษะดิจิทัลให้กับพนักงานทรู เพื่อรับมือกับเทคโนโลยี เอไอ แห่งอนาคต ทั้งยังจุดประกายแนวคิด Reverse Mentoring ให้ผู้บริหารเหล่า C-Level ให้พนักงานรุ่นใหม่ให้คำแนะนำกับผู้บริหารผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่
อ้างอิง : true.th/blog/