‘เอชไอดี โกลบอล’ ปลุกเทค ‘ไบโอเมตตริกซ์ไร้สัมผัส’ เจาะไทย
เอชไอดี โกลบอล (HID Global) ผู้นำระดับโลกด้านโซลูชั่นความปลอดภัยโดยการระบุอัตลักษณ์บุคคล วางกลยุทธ์บุกตลาดไทย หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดึง ‘เอไอ’หลอมรวมไบโอเมตริกซ์ เทคโนโลยีที่ใช้ในการระบุตัวตน ยกระดับความปลอดภัยองค์กร
‘กรุงเทพธุรกิจ’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ประพูราช ปาติล’ Commercial Director, Physical Access Control Solutions, ASEAN & INDIA SUBCONTINENT, HID เล่าถึงกลยุทธ์ธุรกิจในไทยว่า ที่ผ่านมาบริษัททำงานร่วมกับธุรกิจชั้นนำในไทย เช่น อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงานอัจฉริยะ ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ฯลฯ เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงสถานที่ไม่ว่าจะเป็นที่โลเคชั่นจริงและบนออนไลน์หรือดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย
"เราร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เชื่อถือได้สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลประจำตัว และแอปพลิเคชัน โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้และปลอดภัย ทั้งทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้จัดจำหน่าย รีเซลเลอร์ ผู้ติดตั้งระบบเทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรม เราเชื่อมั่นว่าพันธมิตรเรา คือ องค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดในไทยของเอชไอดี"
แม้บริษัทยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในอาเซียน แต่เอชไอดี ยังมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้ใช้ปลายทางเกี่ยวกับความสำคัญของ “การควบคุมการเข้าออกทางกายภาพ” และเอชไอดี คือ ผู้จัดเกณฑ์ในการวัดมาตรฐานและกำหนดมาตรฐาน “ไบโอเมตริกซ์” (Biometrics) สำหรับอุตสาหกรรม
เปิดแนวโน้ม 'ไบโอเมตริกซ์'
ปาติล เล่าถึงแนวโน้มเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มีความกังวลความปลอดภัยการใช้ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ในการสแกนใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธนาคารของไทย แต่เอชไอดีพบว่า การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการวางกรอบการนำ “ดิจิทัลไอดี” มาใช้งานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ไบโอเมตริกซ์” คือ เทคโนโลยีสำหรับยืนยันตัวบุคคล ผสมผสานเทคโนโลยีด้านชีวภาพและทางการแพทย์ กับเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน โดยการตรวจวัดลักษณะทางกายภาพ และลักษณะทางพฤติกรรม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคนมาใช้ในการระบุตัวบุคคลนั้นๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
"ไบโอเมตริกซ์แบบไร้สัมผัส กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากไร้การสัมผัส ใช้งานง่าย และมีความสามารถในการทำงานโดยไม่ต้องสัมผัสกับพื้นผิว ที่อาจสร้างความกังวลต่อสุขอนามัย ประสิทธิภาพของอัลกอริธึม การจับคู่แบบไร้สัมผัสได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีคุณลักษณะที่เทียบเคียงกับอัลกอริธึมแบบสัมผัส อย่างไรก็ตาม มาตรฐานเดียวกันกับที่พัฒนาขึ้น สำหรับข้อมูลไบโอเมตริกแบบสัมผัสยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เราพบว่ามันจะพัฒนาและเติบโตเต็มที่เมื่อเวลาผ่านไป"
ยกตัวอย่าง บัตรประจำตัวดิจิทัลของรัฐบาลไทย (Thai’s National Digital ID Card) ภายใต้พระราชบัญญัติการระบุตัวตนดิจิทัล ซึ่งรวบรวมข้อมูลไบโอเมตริกซ์ เช่น ลายนิ้วมือและการสแกนใบหน้า
ปาติล บอกว่า เอชไอดี จะผลักดันมากขึ้นในการควบคุมการเข้าถึงบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ การมีข้อมูลประจำตัวที่ใช้เป็นหลักฐานยืนยัน เพื่อการควบคุมการเข้าถึงบนสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์สวมใส่ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในปัจจุบันมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างระหว่างความปลอดภัยและความสะดวกสบาย
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีใหม่สำหรับการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพด้วยไบโอเมตริกซ์ จะมีประโยชน์ แต่ทว่าบริษัทในไทยและแม้แต่ระดับโลกยังต้องคำนึงถึงความท้าทายด้านความเป็นส่วนตัวและทางเทคนิค เพื่อให้มั่นใจว่าระบบควบคุมการเข้าออกโดยรวมปลอดภัยและคล่องตัว
ดันเอไอหลอมรวมไบโอเมตริกซ์
ปาติล ยังได้พูดถึง เทคโนโลยีเอไอกับระบบไบโอเมตริกซ์ด้วยว่า การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อฝึกอบรมอัลกอริธึมไบโอเมตริกซ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ อุตสาหกรรมเริ่มใช้เอไอ ช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อนักวิจัยเริ่มพัฒนาอัลกอริธึมสำหรับการจดจำใบหน้า และตั้งแต่นั้นมาก็ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง
"สิ่งสำคัญ คือ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบไบโอเมตริกซ์ ถูกพัฒนาและใช้งานอย่างมีจริยธรรมโปร่งใส มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อปกป้องข้อมูลของแต่ละบุคคล แม้การปรับปรุงและความพร้อมใช้งานของ อัลกอริธึม แมชชีนเลิร์นนิง ที่ทรงพลังจะช่วยให้ระบบรักษาความปลอดภัยแยกแยะระหว่างผู้ใช้งานที่ได้รับอนุญาตและผู้ใช้ที่ไม่ได้รับอนุญาตได้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อกังวลด้านจริยธรรมอย่างแน่นอนเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปใช้ในวงกว้าง"
ปาติล บอกว่า การปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านกฎระเบียบ ที่มีการปรับเปลี่ยนและแตกต่างกันของระบบต่างๆ ที่รวม เอไอขั้นสูงเข้าด้วยกันนั้น มีความท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่ข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ปัจจุบัน โซลูชั่นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ล้ำสมัยของเอชไอดี ก็ขับเคลื่อนโดยระบบเอไอ ที่ปรับให้เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้จะได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นและสามารถตรวจจับภัยคุกคามทางดิจิทัล
ที่ผ่านมา เอชไอดี ได้ร่วมมือกับศูนย์ฝึกอบรมสถาบันการบินพลเรือน (CATC หรือ สบพ.) ของประเทศไทย เพื่อเปิดใช้งานระบบการควบคุมการเข้าออก และการรักษาความปลอดภัยระดับโลกสำหรับวิทยาเขตฝึกอบรมการบิน
กรณีนี้ อุตสาหกรรมการบินใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ช่วยทำให้การเดินทางทางอากาศที่ปลอดภัย มั่นคง และราบรื่น ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเดินทางไปจนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการบินโดยทำให้สามารถระบุตัวผู้เดินทางได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รอคิวสั้นลง และมอบบริการส่วนบุคคล
"เราเชื่อว่าธุรกิจควรมุ่งเน้นไปที่ด้านบวกของ เอไอ ในขณะเดียวกันก็มีความโปร่งใสเกี่ยวกับด้านลบที่อาจเกิดขึ้นด้วย การจัดการข้อกังวลในเชิงรุกจะช่วยสร้างความไว้วางใจและช่วยให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเอไอ"
ผู้นำไบโอเมตริกซ์ “ไร้สัมผัส”
ปาติล เล่าถึงเป้าหมายทางธุรกิจของเอชไอดีปีนี้ว่า “เป้าหมายของเรา คือ การเป็นผู้นำในวงการและผสานรวมข้อมูลไบโอเมตริกแบบไร้สัมผัส เข้ากับแอปพลิเคชันที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่เพิ่มความปลอดภัยและการป้องกันการฉ้อโกงเท่านั้น แต่ยังมอบประสบการณ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้และมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย เรามุ่งหวังที่จะสร้างระบบนิเวศที่เชื่อถือได้ของอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลประจำตัว และแอปพลิเคชันโดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อถือได้และปลอดภัยเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าปลายทาง”