จบไม่ง่าย! คดี‘ไตรรัตน์’ยื่นฟ้องบอร์ดกสทช. ศาลฯนัดฟังคำตัดสิน 4 เม.ย.นี้
ปมแตกหักหลังถูกตั้งกรรมการสอบปมสนับสนุน 600 ล้านบาทให้กกท.จ่ายค่าลิขสิทธื์ฟุตบอลโลก 2022 ถูกเสนอให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. หมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ได้รับผลกระทบต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ กสทช. ตัวจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากวันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางสาวพิรงรอง รามสูต นายศุภัช ศุภชลาศัย นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช.และนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการกสทช.เป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 155/2566 ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 86 , 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจกาองค์กรและเป็นพนักงานผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ตามระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.
เหตุคดีนี้เกิดจาก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 บอร์ดกสทช.ได้มีคำสั่ง (ลับ) ที่ 7/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท และอนุกรรมการฯเสียงข้างมากระบุว่าการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.
และในวันประชุมบอร์ดกสทช. ครั้งที่ 13/2566 วันที่ 9 มิ.ย. 2566 ระเบียบวาระที่ 5.22 : รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะนุกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขัน ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายนั้น ที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้ 1.รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
2.ที่ประชุมมีการพิจารณาข้อเสนอตามรายงานฯ ข้อ 1 ที่เสนอว่า "การดำเนินการของการกระทำของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (โจทก์) รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการกสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้องและมติ
ที่ประชุม กสทช. รวมทั้งข้อเสนอของ กกท. ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุน กทปส. ตลอดจนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ได้ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. โดยจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้ลงมติเสียงข้างมากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และลงมติให้มีการเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (หมายถึงโจทก์) จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น
จากนั้น มีมติปลดโจทก์ออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ กสทช. โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ ให้จำเลยที่ 5 โดยเสนอให้ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ เป็นผู้รักษาการเลขาธิการ กสทช. แทนโจทก์ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนที่ได้ร่วมกันวางแผนและดำเนินการส่อประพฤติไม่ชอบ
ทั้งนี้ โจทก์ระบุว่าคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ไม่ใช่คณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสืบสวน ในกรณีที่มีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีผู้ใดกระทำผิดวินัย แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 4 กลับลงมติโดยถือเอารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มาเป็นรายงานการสืบสวนทางวินัย และนำมาใช้เป็นมูลเหตุในการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยกับโจทก์
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4ถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารบุคคล พ.ศ. 2565 ข้อ 57 และข้อ 58 การกระทำของจำเลยทั้งหมด ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. (ตามคำสั่งประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ) ได้รับความเสียหาย
ซ้ำยังต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถูกเสนอให้ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ก่อให้เกิดความสับสน ความแตกแยกในหมู่พนักงานเกิดความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เพราะมีข่าวออกเผยแพร่ทันทีภายหลังการประชุม กสทช. เสร็จสิ้น รวมถึงหมดโอกาสในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานจากการ
ดังนั้น กระทำของจำเลยทั้งหมด ทำให้โจทก์ได้รับผลกระทบต่อการพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย เป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้เพื่อตรวจคำฟ้อง ให้นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา ในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลา 9.30 น. จากนั้นจำเลยทั้ง 5 คนได้ขอเลื่อนส่งเอกสาร 30 วัน และได้นัดพิจารณาในเดือนพ.ย. 2566 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 เดิมศาลได้มีนัดฟ้องคำพิพากษา แต่เนื่องจากเนื่องจากเอกสารที่ศาลขอจากสำนักงาน กสทช. ยังได้รับไม่ครบถ้วน ศาลจึงอเลื่อนไปเป็นวันที่ 4 เม.ย 2567