ETDA เร่งแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าข่าย-รายย่อย ชี้ต้องจดแจ้งตามกฎหมายในส.ค.67
ETDA เผยครึ่งปีทะลุกว่า 1,000 แพลตฟอร์ม เตรียมออกเครื่องหมายรับรอง ‘ETDA DPS Notified’ ยกระดับความน่าเชื่อถือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เร่งแพลตฟอร์มรายย่อยจดแจ้งภายใน ส.ค.67
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA กล่าวว่า การดำเนินงานภายในกฎหมาย DPS (Digital Platform Service) ผ่านไปครึ่งปีนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 21 ส.ค. 2566 ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งไทยและต่างชาติแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มที่มาแจ้งมากที่สุด คือ กลุ่มบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) จำนวน 302 แพลตฟอร์ม รองลงมาคือ บริการสื่อสารออนไลน์ (online communication) จำนวน 199 แพลตฟอร์ม และบริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) จำนวน 78 แพลตฟอร์ม และภาพรวมส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยถึง 94.46% ส่วนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาแจ้งมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ จีน ตามลำดับ
ETDA มีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต ETDA ที่วันนี้เราขยับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล ภายใต้แนวคิดการทำงาน Co-Creation Regulator อย่างเต็มตัว ที่ได้ดำเนินงานภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย Digital ID และกฎหมาย DPS ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานทั้งในส่วนของการกำกับดูแลควบคู่กับการส่งเสริม เพื่อให้ประเทศเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจผ่านการดำเนินงานในหลายส่วน เป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีแนวทางที่สามารถกำกับดูแลตนเองในการให้บริการที่ดีได้ในอนาคต (Self-regulate)
ด้านนางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวต่อว่า ข้อมูลข้างต้นนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ETDA ได้เห็นภาพ DPS Landscape ที่ให้บริการในไทยได้ชัดเจนขึ้น ก้าวต่อไปที่เราต้องไปต่อเพื่อยกระดับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น คือ การเร่งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องแจ้งแต่ยังไม่มาแจ้งให้มาดำเนินการแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด และแพลตฟอร์มรายย่อย ภายในเดือน ส.ค.2567
รวมไปถึงการเร่งสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนให้แพลตฟอร์มที่มาแจ้งข้อมูลแล้ว ต้องดำเนินการยื่นรายงานประจำปีกับ ETDA เพื่ออัปเดตข้อมูล อาทิ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในไทย จำนวนและประเภทผู้ใช้บริการ เป็นต้น รวมถึงการแจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms & Conditions: T&C) ให้ผู้ใช้บริการทราบ ในกรณีแพลตฟอร์มที่มีลักษณะตาม มาตรา 16 ที่มีให้บริการโดยคิดค่าบริการ หรือ ให้บริการเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ หรือ บริการ Search engine ซึ่งทั้งในส่วนรายงานประจำปีและการแจ้ง Terms & Conditions ข้างต้นแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 29 ก.พ. 2567 นี้
นอกจากนี้ ETDA ยังเตรียมดำเนินการในการออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS หรือ “ETDA DPS Notified” สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ที่มีลักษณะตาม ม.8 วรรคหนึ่ง ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มกลุ่มใหญ่ที่ให้บริการแก่คนไทยทั่วไปและอาจเข้าข่ายแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง และอาจกระทบต่อผู้ใช้งานในวงกว้างได้
ซึ่งเครื่องหมาย “ETDA DPS Notified” นี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้ผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม พ่อค้าแม่ค้า ไรเดอร์ ตลอดจนผู้บริโภค สามารถเชื่อมั่นได้ว่า แพลตฟอร์มที่มีเครื่องหมายนี้ เป็นแพลตฟอร์มที่ได้มีการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ มีการยืนยันตัวตน เมื่อเกิดเหตุหรือปัญหาสามารถติดต่อได้ มีมาตรการในการบรรเทาความเสียหายและการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย DPS
“เครื่องหมายรับแจ้ง ETDA DPS Notified จะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้แพลตฟอร์มทั่วไป ที่ยื่นแจ้งข้อมูลและผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับการอนุมัติให้สามารถดาวน์โหลดเครื่องหมาย ETDA DPS Notified เพื่อนำไปแสดงบนแพลตฟอร์มของตนเองได้