ดีอีออกโรงเตือนพิษ 'โรแมนซ์สแกม’ เผยยอด 1 ปี 11 เดือนทำเหยื่อสูญเงินพันล้าน.
ดีอีเตือนรักได้แต่ต้องมีสติด้วย คนโสดระวัง! 'โรแมนซ์สแกม’ กลรักออนไลน์ รับวันวาเลนไทน์อยากมีคู่ต้องมีสติด้วยเผยเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา โจรไซเบอร์หลอกเหยื่อสูญเงินกว่า พันล้านบาท
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ขอให้ประชาชนระวังภัยที่อาจจะเกิดขึ้นจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อาทิ มิจฉาชีพเข้ามาทักทายผ่านโชเชียลมีเดีย จากนั้นขอคุยเป็นเพื่อนและคนรัก ก่อนที่จะขอให้เหยื่อโอนเงินให้พร้อมหลอกเหยื่อว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินในรูปแบบต่างๆ ดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ท่านโปรดระวังคนแปลกหน้า หรือคนที่เข้ามาขอเป็นเพื่อนก่อนที่จะขอพัฒนาความสัมพันธ์หลอกให้รักหลอกให้โอนเงิน ทั้งในรูปแบบเงินดิจิทัล บัญชีออนไลน์ ตลอดจนถึงบัญชีม้า
ดังนั้นวันแห่งความรัก ขอให้ประชาชนทุกท่าน โดยเฉพาะคนโสด ตระหนักถึงภัยที่อาจจะมาถึงตัว ผ่านความรักในรูปแบบต่างๆ ขอให้ระวังการใช้เทคนิคทางจิตวิทยา สร้างความเชื่อใจระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam) หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท (Remote access scam) ทำการดูดเงินในบัญชี และหลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ เป็นต้น
ตัวเลขของ ศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการเก็บสถิติตัวเลขคดีหลอกให้รักและโอนเงินออนไลน์ หรือ โรแมนซ์สแกม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 รวม 1 ปี 11 เดือน พบว่ามีคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโรแมนซ์สแกมจำนวน 3,323 คดี มีความเสียหายมากกว่า 1,154 ล้านบาท คิดเฉลี่ยความเสียหายคดีละประมาณ 34,752 บาท นับว่าเป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์เป็นหนึ่งในปัญหาภัยไซเบอร์
นอกจากนี้ ทางศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC 1441) ได้ยกเคสคดีตัวอย่าง หลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) ที่ทางศูนย์ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย จำนวน 3 คดี
โดยคดีแรก มีมูลค่าความเสียหาย 1.9 ล้านบาท รายละเอียดคดีพบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับคนร้ายที่ติดต่อมาผ่านช่องทาง Facebook ต่อมาได้พูดคุยผ่านช่องทาง Line เริ่มพูดคุยกันจนสนิทใจและได้หลอกให้โอนเงินเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อ้างว่าเดือดร้อนเรื่องเงิน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไป ปัจจุบันทำการติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท รายละเอียดคดีพบว่า ผู้เสียหายรู้จักคนร้านผ่านช่องทาง Facebook แล้วได้ติดต่อกันผ่านช่องทาง Line จนสนิทสนมเกิดเป็นความรัก จากนั้นคนร้ายอ้างว่าจะส่งเงินและทองคำมาให้ผู้เสียหายเก็บรักษาไว้ แต่ต้องมีการชำระเงินค่าภาษีในการส่งสินค้า โดยคนร้ายบอกให้ผู้เสียหายโอนเงินดังกล่าวไปให้ก่อน ผู้เสียหลงเชื่อและได้โอนเงินไปให้คนร้าย สุดท้ายไม่สามารถติดต่อคนร้ายได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และคดีที่ 3 มูลค่าความเสียหาย 2,012,000 บาท ส่วนรายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับมิจฉาชีพเป็นครั้งแรกทางสื่อสังคมออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook โดยยังไม่เคยพบเจอกัน แอบอ้างชื่อ ดร.XXXX XXXX ได้พำนักอาศัยอยู่ต่างประเทศ จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line พูดคุยกันจนสนิทใจและตกลงเป็นแฟน ต่อมาภายหลังได้ขอความช่วยเหลือค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเดินทางมาหาผู้เสียหายตามการนัดหมาย ผู้เสียหายเกิดความรักและความเชื่อใจจึงได้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพ หลังจากนั้นติดต่อมิจฉาชีพไม่ได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงให้รัก แล้วจากไปของมิจฉาชีพที่ระบาดหนักอยู่ขณะนี้ นอกจากเสียใจแล้ว ยังเสียทรัพย์สินอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ จึงอยากให้มีสติ
ใช้สื่อออนไลน์อย่างรู้เท่าทัน ทั้งแอปพลิเคชั่นหาคู่ หรือโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการหลอกลวงในรูปแบบอื่น อาทิ หลอกรับบริจาค ทำบุญ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลในเรื่องความรัก หลอกให้โอนเงินค่าของขวัญวันวาเลนไทน์ผ่านร้านค้าออนไลน์ หลอกให้เล่นการพนัน เป็นต้น
"อยากให้ทุกท่านพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะมีการโอนเงินหรือชำระเงินออนไลน์ให้กับคนที่ไม่คุ้นเคย หรือบุคคลที่แอบอ้าง เพื่อป้องกันตัวท่านเองจากการสูญเสียเงินทองเนื่องในเทศกาลแห่งความรัก และขอให้ทุกท่านปลอดภัยในวันแห่งความรักนี้" รัฐมนตรีดีอีระบุ