กสทช.ดึง‘วันเว็บ’หนุนเตือนภัย เปิดช่องรพ.สต.-อสม.ใช้เน็ตฟรีในที่ห่างไกล
เตรียมหารือ เอ็นที ใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์ OneWeb หนุน ปภ.ใช้ระบบเตือนภัยพิบัติ พร้อมเปิดกว้างค่ายมือถือให้บริการเน็ต รพ.สต.-อสม.ในพื้นที่ห่างไกล หวังลดภาระค่าใช้จ่าย จูงใจนำค่าใช้จ่ายเป็นส่วนลดค่ายูโซ่
นายสมภพ ภูวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ใบอนุญาตดาวเทียมวงโคจรต่ำ ของวันเว็บ OneWeb อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเร็วๆนี้ โดย OneWeb เป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที
ดังนั้น หากใบอนุญาตดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ตนเองจะนัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ เอ็นที เพื่อขอให้เอ็นทีเป็นผู้ให้บริการและบำรุงรักษาระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม สำหรับการเตือนภัยพิบัติเพื่อประโยชน์สาธารณะให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จำนวน 200-250 จุด ตามจุดแจ้งเตือนภัยพิบัติที่อยู่ในที่โล่ง โดยกสทช.จะสนับสนุนผ่านกองทุน USO
ทั้งนี้ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ ปภ.ใช้การสื่อสารด้านการเตือนภัยร่วมกันผ่านแอปพลิเคชัน พ้นภัย แต่การสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และ วิทยุสื่อสาร ประสบปัญหาด้านการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การประสานงานดับไฟป่า น้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะประสบปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์มากกว่าการใช้งานผ่านดาวเทียม ดังนั้น ปภ.จึงเข้ามาหารือขอให้กสทช.สนับสนุนเรื่องนี้
นอกจากตัวแทนจาก ปภ.แล้ว ยังมีตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย เข้ามาหารือกับกสทช.ถึงการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตให้กับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ตามชายแดน ที่ระบบอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการให้บริการสำหรับคีย์ข้อมูลในการลงทะเบียนรับการรักษา กับประชาชนตามแนวชายแดน ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน คนไทย คนต่างด้าว
นายสมภพ กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังได้หารือแนวทางในการสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ตสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ห่างไกล ที่ให้บริการกับประชาชน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ในการนำส่งข้อมูลต่างๆของผู้ป่วยส่งไปยังโรงพยาบาลหลัก ซึ่งที่ผ่านมาอสม.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง บางคนไม่มีรายได้ประจำ ค่ารถก็ต้องจ่ายเอง จึงคิดว่าหากพอช่วยได้ ก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ที่ผ่านมา กสทช.ยังไม่เคยช่วยเหลืออสม.มีเพียงการสนับสนุนคนด้อยโอกาส นักเรียนถิ่นธุรกันดาร ผู้ยากไร้ และ คนชรา ดังนั้นต้องขอดูข้อกฎหมายอีกครั้งว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร เพื่อไม่ให้มีประเด็นกับอสม.คนอื่นๆทั่วประเทศ ดังนั้นตอนนี้กสทช.จึงพยายามสื่อสารให้ประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านศูนย์ยูโซ่เน็ตของกสทช.และโครงการเน็ตประชารัฐที่กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลอยู่แล้ว
“เรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ รพสต.และ อสม.เราจะเปิดกว้างให้ค่ายมือถือเข้ามามีส่วนร่วม โดยเอกชนสามารถนำมาเป็นส่วนลดค่ายูโซ่กับกสทช.ได้”