ไขรหัส ‘Smart Factory’ เส้นทางสู่ การก้าวข้ามขีดจำกัด ‘ผู้ผลิตไทย’
“โรงงานอัจฉริยะ” หรือ “Smart Factory” คือการผสานกันระหว่างการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เทคโนโลยี และพนักงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความสามารถที่สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
KEY
POINTS
- ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ On-Demand
- เมื่อต้องการมุ่งสู่ Smart Factory ธุรกิจส่วนมากต้องประสบความท้าทายมากมายในการเริ่มต้น
- Smart Factory ไม่ได้เน้นการลดจำนวนพนักงานเพื่อแทนที่ด้วยเทคโนโลยี
- Net Zero Emissions กลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว
ลิบ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) (LiB Consulting) บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการธุรกิจชั้นนำจากญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ Smart Factory อย่างชัดเจน
โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ
ทว่า มิใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่จะสามารถพัฒนา Smart Factory ได้อย่างราบรื่น เพราะส่วนมากต้องประสบความท้าทายมากมายในการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นความกังวลใจในเรื่องการขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนหรือไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี
'3 ปัจจัย' กระทบโลกธุรกิจ
จากการศึกษาเกี่ยวกับเมกะเทรนด์ที่กำลังจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจพบว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่เข้ามามีอิทธิพลในทุกๆ อุตสาหกรรมประกอบด้วย
ปัจจัยเชิงเทคโนโลยี (Technological Factor) : ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบ On-Demand เพื่อตอบสนองความต้องการได้แบบฉับพลัน
ปัจจัยเชิงการเมืองและสิ่งแวดล้อม (Political and Environmental) : นโยบายทางการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวและเป้าหมาย Net Zero Emissions กลายเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อโลก
ปัจจัยเชิงสังคม (Societal Factor) : นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโนบายของรัฐบาล แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวผลักดันให้เข้าสู่การพัฒนา Smart Factory เพื่อรักษาสมดุลทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับการทลายขีดจำกัดทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค
'4 เป้าหมาย' สู่ Smart Factory
ลิบ คอนซัลติ้ง ได้ทำการวิเคราะห์และนำเสนอเป้าหมายเพื่อให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงสู่ Smart Factory ได้อย่างเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม โดยจำเป็นต้องตระหนักถึงเป้าหมายในการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน คือ
ประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Operational Efficiency) : ผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งในด้านแนวทางปฏิบัติที่ดีของบริษัท (Best Practices) และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้บริบทของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
การยกระดับคุณภาพ (Quality Enhancement) : เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า
การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (Cost Optimization) : หากตัวแปรธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมกระทบต่อการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ หรือแม้แต่กำลังการผลิต ซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงจะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เชิงข้อมูล (Data Product) ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้
เช่น การปรับเปลี่ยนแผนการผลิตในทันทีตามอุปสงค์ ผ่านการใช้เอไอ แมชีนเลิร์นนิง เพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์การผลิตให้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ต่ำสุด
การตอบโจทย์ตลาด (Market Responsiveness) : ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่สามารถรุกตลาดได้เร็ว ผู้บริโภครู้จักแบรนด์มากขึ้น และผู้ประกอบการคืนทุนได้ในเวลาระยะสั้น
'3 เคล็ดลับ' สู่การพัฒนาที่ตอบโจทย์
การพัฒนา Smart Factory คือการนำเทคโนโลยีที่จำเป็นมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรม โดยสามารถแบ่งการดำเนินเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่
การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) : วางกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จซึ่งจำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ วิสัยทัศน์เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformation aspiration), แนวทางสู่การเปลี่ยนแปลง (Transformation strategy) และ ขีดความสามารถที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลง (Transformation capability) โดยต้องพิจารณาขีดความสามารถที่จำเป็นทั้งด้านบุคลากร, กระบวนการ, เทคโนโลยี, ข้อมูลและการวิเคราะห์ และนโยบาย
การเรียงลำดับการดำเนินงาน (Sequence) : เนื่องจากเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ Smart Factory นับเป็นภาพใหญ่และเป็นเป้าหมายสูงสุด ดังนั้นควรมีการกำหนดแผนระยะสั้นร่วมกับแผนระยะยาว เพื่อเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่คาดหวังประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม
การกำหนดโครงสร้างการทำงาน (Structure) : ปรับเปลี่ยนทีมงานเพื่อรับผิดชอบนำแผนงานมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับ 4 ตำแหน่งงานหลัก คือ เจ้าของผลิตภัณฑ์, ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ, ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล
จะเห็นได้ว่า Smart Factory ไม่ได้เน้นการลดจำนวนพนักงานเพื่อแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ในทางกลับกันบางองค์กรจำเป็นต้องเพิ่มพนักงานเพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมกับเทคโนโลยีที่เลือกใช้