บอร์ดเอ็นทีลงมติยื่นต่ออายุ ’ไทยคม4‘ กางแผนบริหารดาวเทียมผนึกพันธมิตร
เตรียมส่งหนังสือแจ้งกระทรวงดีอีอย่างเป็นทางการ ระบุให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้ว ยันไทยคม 4 ยังใช้งานได้ถึงปี 68 พร้อมเดินหน้าให้บริการเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำหลังผนึก Oneweb ดีเดย์ได้ใช้ไตรมาส 3 ปีนี้
KEY
POINTS
- ไอพีสตาร์ได้ขยายอายุทางวิศวกรรมมา 1 ครั้งแล้วจากเดิมสิ้นสุดปี 2565 เป็น 2567 และล่าสุดขยายอายุให้หมดปี 2568
- มีการคาดการณ์ว่าการขยายอายุนี้ เพื่อให้สอดรับการดาวเทียมไทยคม 9 ที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้างในตำแหน่งวงโคจรเดียวกัน
- เอ็นทีได้สร้างสถานีเกตเวย์สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit (LEO) ของบริษัท วันเว็บ (OneWeb) ประเทศอังกฤษที่จ.อุบลราชธานีเสร็จแล้วคาดว่าจะเปิดใช้งานไตรมาส 3 ปีนี้
- เป้าหมายเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนโดยมีไทยเป็นศูนย์กลาง
- หลังจากที่เอ็นทีประมูลวงโคจรได้รับสิทธิ์ 1 วงโคจรคือ วงโคจรชุดที่ 4 (126E) ขณะนี้ทำแผนธุรกิจเสนอบอร์ดอยู่น่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้
- ในอนาคตเอ็นทีจะถือเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีทั้งทางภาคพื้นดิน ใต้น้ำ และในอวกาศ
พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ เป็นครั้งที่ 2 จากเดิมที่หมดอายุ 2565 จากการต่ออายุมาแล้ว 1 ครั้ง ให้หมดปี 2567 และล่าสุดบอร์ดได้มีมติขยายอายุออกไปอีก 1 ปี ให้ไทยคม 4 หมดอายุทางวิศวกรรมในปี 2568 โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะส่งเรื่องไปยังแจ้งไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี อย่างเป็นทางการต่อไป
‘เราให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ผลิตดาวเทียมมา Versify แล้วยืนยันว่า ไทยคม 4 ยังคงใช้งานได้จนถึงปลายปี 2568 จากนั้น ก็จะมีดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทนในตำแหน่งวงโคจรนี้ ซึ่งจะทำให้การให้บริการต่อประชาชนและลูกค้าไม่สะดุดแน่นอน‘
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติแต่งตั้งบอร์ดเพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง ซึ่งจะขอเปิดเผยรายชื่ออย่างเป็นทางการในการประชุมบอร์ดเอ็นทีครั้งต่อไปช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้
ไอพีสตาร์จุดเปลี่ยนกิจการอวกาศไทย
ไทยคม 4 หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อ ดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงดวงแรกของโลก เนื่องจากเทคโนโลยีดาวเทียมได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมถึงความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ในตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออกที่มีศักยภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมากอันดับต้นๆของโลก
โดยหลังจากที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลเมื่อก.ย.ปี 2564 ครบวาระ 30 ปี ก็ได้มอบสิทธิให้เอ็นทีเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารแทน โดยไทยคม 4 เป็นดาวเทียมสื่อสารสัญชาติไทยและเคยเป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุดในโลก ณ วันที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อสิงหาคม 2548
มีช่องการสื่อสารแบบ KU-Band จำนวน 87 ช่อง และ KA-Band จำนวน 10 ช่อง ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ถือว่าล้ำสมัยมากในยุคนั้น โดยแต่เดิมจากการออกแบบทางวิศวกรรมไทยคม 4 มีอายุ 15 ปี นับจากวันที่ยิงขึ้นสู่วงโคจร และหากมีการเลื่อนอายุออกอีกจะทำให้ไทยคม 4 มีอายุมากถึง 20 ปี
รอไทยคม 9 ที่กำลังสร้างมาแทนที่
ผู้สื่อข่าวรายงาน การขอขยายอายุทางวิศวกรรมของไทยคม 4 ให้สิ้นสุดปลายปี 2568 ก็เพื่อรอให้ไทยคมสร้างดาวเทียมไทยคม 9 (THAICOM-9) ให้แล้วเสร็จโดยได้เลือกเซ็นสัญญาให้ Astranis บริษัทผู้ผลิตและให้บริการดาวเทียมชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ดำเนินการสร้างดาวเทียมไทยคม 9 ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก รุ่น MicroGEO ให้บริการดาวเทียมระบบ Ka-band ครอบคลุมทวีปเอเชีย โดยมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยี Software-defined Radio ประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถปรับพื้นที่การให้บริการ จัดสรรช่องสัญญาณ ตลอดจนควบคุมย่านความถี่ ระดับพลังงาน และระบบการทำงานอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่
ร่ายแผนบริหารดาวเทียมในมือ
พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานีเกตเวย์สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit (LEO) ของบริษัท วันเว็บ (OneWeb) เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ในพื้นที่สถานีดาวเทียมสิรินธร อุบลราชธานี ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย 100% แล้ว หลังจากที่มีการติดขัดเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์บางประเภทจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
โดยหลังจากดำเนินการจัดสร้างสถานีเกตเวย์สำหรับวันเว็บ จะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียมวันเว็บซึ่งมีเป้าหมายให้บริการเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำทั่วโลก และเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 1 ปี เพราะติดขัดเรื่องเอกสารในการนำเข้าอุปกรณ์
เขา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมนนทบุรี จ.นนทบุรี, สถานีดาวเทียมศรีราชา จ.ชลบุรี และ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ เอ็นทียังได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการและควบคุมดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ที่สถานีดาวเทียมไทยคม นนทบุรี หลังจากที่บมจ.ไทยคม สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับภาครัฐไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ เดิมเอ็นทีได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานีเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ “OneWeb Satellite Network Portal Site Hosting Services” ในบริเวณสถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ
ชงแผนธุรกิจเข้าบอร์ดพิจารณา
เขา กล่าวอีกว่า นอกจากเอ็นทีจะมีสถานีเกตเวย์สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำได้เข้าร่วมการประมูลซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ โดย เอ็นทีได้รับสิทธิ์ 1 วงโคจรคือ วงโคจรชุดที่ 4 (126E) ซึ่งสามารถให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ในราคา 9.076 ล้านบาท ขณะนี้ทำแผนธุรกิจเสนอบอร์ดอยู่น่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้
สำหรับวงโคจร 126E ที่ประมูลได้นี้จะทำให้เอ็นทีเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการดาวเทียมได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งทางเทคโนโลยี และบุคลากรเป็นการส่งเสริมกิจการอวกาศ และเป็นการรักษาวงโคจรของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างองค์กรล่าสุดของเอ็นทีที่เพิ่มการจัดตั้งสายงานดาวเทียมและโครงข่าย เพื่อดำเนินภารกิจด้านดาวเทียม ทั้งการบริหารจัดการและการสนับสนุนการขาย บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม เกตเวย์และสถานีภาคพื้นดิน รองรับการก้าวสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรรอบโลกระดับต่ำและดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO) โดยจะส่งผลให้การให้โครงข่ายโทรคมนาคมของเอ็นทีมีทั้งทางภาคพื้นดิน ใต้น้ำ และในอวกาศ