ดีอี-ดีป้าประกาศผลสำเร็จสมาร์ทซิตี้ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางศก.กว่า 200 ล้านบาท
แถลงความสำเร็จโครงการ DIGITAL INFINITY: SMART LIVING หลังเดินหน้ายกระดับเมืองอัจฉริยะใน 11 พื้นที่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 200 ล้านบาท และเตรียมพร้อมขยายผลสู่การส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ
KEY
POINTS
- รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนำมาเลือกประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของเมืองตัวเอง และผลักดันสู่เมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้)
-
สร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital)
-
โครงการ DIGITAL INFINITY: SMART LIVING สร้างเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200 ล้านบาท
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวถึงผลความสำเร็จโครงการ DIGITAL INFINITY: SMART LIVING ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ว่าจากการสร้างเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเครือข่ายพันธมิตร อาทิ นายกเทศมนตรี คณะผู้บริหาร และผู้แทนเมืองจาก 11 พื้นที่ 10 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดนนทบุรี ราชบุรี อ่างทอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา มหาสารคาม ตรัง ชลบุรี เชียงราย และกรุงเทพฯ
โดย ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงดีอี โดย ดีป้า มุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ และเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง
ผ่านแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ สู่เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวว่า ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ระดับท้องถิ่นใน 11 พื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ก่อนกระจายการพัฒนาสู่พื้นที่ใกล้เคียง และนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศอย่างยั่งยืนด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม โดยการส่งเสริมการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน 'ฟ้าฝน' ซึ่งทำหน้าที่พยากรณ์อากาศและเชื่อมโยงข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัจฉริยะแบบ All-in-one ในชื่อ FAHFON SENSE ที่สามารถวัดค่าได้ถึง 17 ตัวแปรจาก Smart Pole เพียง 1 ต้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผน ดูแล จัดการกระบวนการผลิตและเพาะปลูก รักษาคุณภาพผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยโครงการดังกล่าวสร้างสถานีตรวจวัดสภาพอากาศใน 5 จังหวัด ประกอบด้วยเทศบาลตำบลพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เทศบาลตำบลแม่ลาว จังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนตำบลนาชุมเห็ด จังหวัดตรัง องค์การบริหารส่วนตำบลหัวหว้า จังหวัดปราจีนบุรี และ เทศบาลตำบลเมืองบางแพ จังหวัดราชบุรี รวม 250 พิกัด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 250 ตารางกิโลเมตร และส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้วกว่า 1,000 ราย
ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นด้านธุรกิจอาหารใน 7 พื้นที่ ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เทศบาลเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เทศบาลตำบลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา เทศบาลตำบลสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เทศบาลเมืองบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลหัวหว้า จังหวัดปราจีนบุรี เทศบาลตำบลบางแพ จังหวัดราชบุรี และ เทศบาลตำบลโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ด้วยการยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นเข้าสู่แพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารสัญชาติไทยในชื่อ eatsHUB เพื่อยกระดับร้านอาหารท้องถิ่นเข้าสู่ระบบออนไลน์ เพิ่มโอกาสเข้าถึงลูกค้า และเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1,000 ราย
ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รองรับสังคมผู้สูงวัยด้วยเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ Smart Health ที่เฝ้าระวังเรื่องสุขภาพและการวางแผนติดตามดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดใน 2 พื้นที่คือ เทศบาลตำบลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา และ เทศบาลเมืองบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรี ดำเนินการร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสุขภาพมาประยุกต์ใช้บันทึก จัดเก็บ เชื่อมโยง และตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงกว่า 420 ราย สามารถนำข้อมูลประกอบการอ้างอิงเบื้องต้นด้านสุขภาพ ขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อวิเคราะห์โรคได้ง่ายขึ้น และติดตามดูแลได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว แม่นยำ และทั่วถึงยิ่งขึ้น
ด้านการบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) ติดตั้งเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการสื่อสาร โดยการสนับสนุนป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์ใน 2 พื้นที่ คือ เทศบาลตำบลบางแพ จังหวัดราชบุรี และ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวหว้า จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการภาครัฐ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ การประชาสัมพันธ์ การแจ้งเตือนภัย และบริการอื่น ๆ แก่ประชาชนกว่า 6 แสนคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"โครงการ DIGITAL INFINITY: SMART LIVING สร้างเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระดับท้องถิ่น และเตรียมพร้อมขยายผลไปสู่การขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว