‘สดช.’เวิร์กช้อปคลาวด์กลางภาครัฐ ก่อนส่งไม้ต่อ‘บอร์ดีอี’หามาตรฐานกลาง
สดช. จัดประชุมประชาพิจารณ์ผลการศึกษา และ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการระบบคลาวด์ที่เหมาะสม สำหรับหน่วยงานภาครัฐ เตรียมประเทศเข้าสู่ “Go Cloud First Policy”
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวว่า หลังจากที่ได้เป็นรับฟังประชาพิจารณ์ “ผลการศึกษาและ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐาน ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานภาครัฐ” ภายใต้โครงการจัดทำกฎระเบียบการใช้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความสำคัญของการที่ประเทศไทยจะมุ่งสู่ “Go Cloud First Policy” และเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
นายภุชพงค์ กล่าวว่า สดช. ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service: GDCC) ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำกฎระเบียบการใช้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ และแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ข้อมูล และด้านการใช้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐของประเทศไทยที่มีความเกี่ยวข้องกัน
โดยเมื่อ สดช. ได้ (ร่าง) ข้อเสนอฉบับสมบูรณ์แล้ว จะนำเสนอต่อคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูล และคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ภายใต้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยการประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รวมรวม และวิเคราะห์นโยบาย แผนงาน ระเบียบ มาตรการและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้และการใช้บริการคลาวด์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้และการใช้บริการระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานภาครัฐ อันจะสามารถใช้เป็นแนวทางและแก้ไขปัญหาอุปสรรค ตลอดจนแก้ไขข้อกังวลของหน่วยงานภาครัฐในการใช้บริการคลาวด์ได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วน และสมบูรณ์
"สำหรับการดำเนินโครงการฯ ในส่วนของกิจกรรมด้านระบบคลาวด์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการศึกษาสถานการณ์ด้านระบบคลาวด์สำหรับหน่วยงานภาครัฐในภาพรวม ตลอดจนศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบาย แผนงาน ระเบียบ มาตรการ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้และใช้บริการคลาวด์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อรวบรวมและรับทราบถึงสถานการณ์ ความต้องการ และความท้าทายอย่างครอบคลุม"
โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ ยังประกอบด้วย การสัมภาษณ์เชิงลึกหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงานผลการศึกษาฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง อีกจำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภาครัฐ จำนวน 3 ครั้ง และระบบคลาวด์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 3 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การจัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ
ทั้งในประเด็นของการเลือกใช้บริการคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ และกำหนดรูปแบบการให้บริการระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการคลาวด์ภาครัฐหรือภาคเอกชน การจัดซื้อจ้างระบบคลาวด์ (Cloud Procurement) และการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) ผ่านแพลตฟอร์มบริหารจัดการระบบคลาวด์ มาตรฐานการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Standards)
ซึ่งเป็นคุณสมบัติของบริการระบบคลาวด์และผู้ให้บริการคลาวด์ที่เหมาะสมกับระบบคลาวด์ภาครัฐ ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและร่างกฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ มีการคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์และบูรณาการข้อมูลภาครัฐควบคู่กัน