ไทยคมเบรก’กสทช.‘ไฟเขียวดาวเทียมต่างชาติ หวั่นเสียเปรียบเพราะแบกต้นทุน
ไทยคมส่งหนังสือแทงกั๊กเบรกกสทช.อย่าเพิ่งออกใบอนุญาตให้‘วันเว็บ’-‘เอ็นที’ลุยบรอดแบนด์วงโคจรต่ำ หวั่นผู้ประกอบการไทยเสียทรงเพราะประมูลมาแพง
KEY
POINTS
- ขอชะลอออกใบอนุญาตให้บริการในประเทศ (Landing Right) และใบอนุญาตสร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน (Gateway license)
- หลังเอ็นที-OneWeb พร้อม 100%ให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม
- อ้างเอกชนมาเลเซียโดนผลกระทบหนักหลังรัฐบาลอ้าแขนรับดาวเทียม Starlink จากบริษัท SpaceX
- ชี้หากเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำเอกชนในประเทศที่ประมูลวงโคจรเสียเปรียบหนักจากต้นทุนค่าใบอนุญาต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. ครั้งล่าสุดได้มีการรับรายงานจากสำนักงาน กสทช. ตามที่บมจ.ไทยคม ได้ยื่นหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. โดยระบุว่า ไทยคมขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์และชะลอการออกใบอนุญาตในกิจการดาวเทียม 2 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตการให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ (Landing Right) และใบอนุญาตสร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน (Gateway license)
ที่ขณะนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ OneWeb (วันเว็บ) เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ในพื้นที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี เนื่องจาก หากมีต่างชาติเข้ามาจะทำให้ได้เปรียบด้านบริการบรอดแบนด์วงโคจรต่ำผ่านดาวเทียม จนทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะมีต้นทุนเรื่องค่าใบอนุญาตที่แพงกว่า
“ที่ประชุมในบอร์ด ก็รับรายงานจากสำนักงาน กสทช.และให้ทางสนง. กลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะเสนอเข้าบอร์ดอีกทีว่าจะมีแนวทางใดในส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่าต้องเห็นใจผู้ประกอบการเอกชนไทยเหมือนกันที่เข้ามาประมูลวงโคจรดาวเทียมจากกสทช.”
เอ็นทีรับโครงการล่าช้ามากว่า 1 ปีแล้ว
พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า OneWeb เลือกเอ็นทีเป็นพันธมิตรเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นตัวแทนจากรัฐบาลและมีศักยภาพและมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับด้านดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ในภูมิภาค CLMV
โดยสถานีสิรินธร จะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียมมีเป้าหมายให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน โดยเดิมนั้นมีกำหนดให้บริการไตรมาส 2 ปี 2566 แต่ขณะนี้ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 1 ปี หลังจากรอใบอนุญาตนำเข้าอุปกร์บางตัวจากกสทช. จนเมื่อต้นปี 2567 งานก่อสร้างทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100% ตอนนี้รอเพียงใบอนุญาตให้บริการจากกสทช. คือ Landing Right และ Gateway License
ไทยคมขอเคลียร์ใจก่อนร่อนหนังสือ
ทั้งนี้ เดิมเอ็นทีได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานีเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ “OneWeb Satellite Network Portal Site Hosting Services” ในบริเวณสถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบสำหรับดาวเทียม OneWeb ด้วยคุณภาพบริการที่ระดับ SLA ไม่น้อยกว่า 99.99 %
กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ไทยคมเข้ามาชี้แจงกับเอ็นทีก่อนส่งหนังสือเบรกโครงการนี้ไปยังกสทช. เพราะให้เหตุผลว่า ในมาเลเซียนั้น Starlink บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียม จากบริษัท SpaceX ได้ยื่นความเสนอโครงการมาโดยตรงกับรัฐบาลมาเลเซีย แต่พอผ่านไปก็โครงการก็ไม่ประสบความสำเร็จ และมีข่าวว่า Starlink กำลังถอนการลงทุนและผลกระทบตอนนี้ก็ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้
"ถ้าโครงการนี้สำเร็จและให้บริการได้ในเฟสแรกเราจะมีรายได้จาก OneWeb ราว 80-100 ล้านบาท แต่ในเมื่อยังไม่เกิดก็ทำได้เพียงรอ ซึ่งพูดตามตรงก่อนที่ไทยคมจะส่งหนังสือไปยังกสทช.ก็ได้มาบอกเราก่อน เพราะเรากับไทยคมก็เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ประเด็นนี้ผมไม่ขอพูดว่าผิดหรือถูก ให้เป็นทางบอร์ดกสทช.พิจารณา"
ค่าไลเซ่น-สร้างดาวเทียมทะลุ 1.6 หมื่นล.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาไทยคมได้เข้าร่วมประมูลวงโคจรดาวเทียมจากสำนักงาน กสทช. ผ่านบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูก และชนะการประมูล จำนวน 2 ชุด รวมมูลค่า 797 ล้านบาท ได้แก่ วงโคจร 78.5 E และวงโคจร 119.5 E ไทยคมยังได้ขออนุมัติวงเงินลงทุนจากบอร์ดบริษัทจำนวนไม่เกิน 15,203 ล้านบาทภายใต้แผนยิงดาวเทียมบรอดแบนด์ 3 ดวง ซึ่งอาจเป็น 2 ดวงเล็กและ 1 ดวงใหญ่ ในวงโคจร 119.5 E ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการทำตลาดครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ เอเชียเหนือ ออสเตรเลีย และภูมิภาคอินโดจีน โดยจะเริ่มจากการยิงดาวเทียมดวงเล็กก่อนเพราะใช้เวลาสร้างเพียง 18 เดือน เทียบกับการสร้างดาวเทียมดวงใหญ่ซึ่งใช้เวลา 4 ปี ส่วนตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออกนั้น คาดว่าแผนยิงดาวเทียมจะมีความชัดเจนภายใน 1 ปี โดยอย่างน้อยต้องยิงดาวเทียมให้ได้ 1 ดวงภายใน 3 ปี หลังได้รับใบอนุญาตจากกสทช.