ยืดหยุ่นคือหัวใจสำคัญ
คนที่ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวมักเป็นคนที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ความยืดหยุ่นและไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้มนุษย์เติบโตจนสร้างวิวัฒนาการต่างๆ มากมาย
การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจในทุกวันนี้และยังส่งผลให้ Jensen Huang ซีอีโอของ Nvidia ผู้ผลิตชิปประมวลผลเอไอกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกเพราะ Nvidia มีมูลค่าสูงขึ้นจนทะลุ 2 ล้านล้านดอลลาร์และตัวเขาเองก็มีทรัพย์สินมากกว่า 2.7 ล้านล้านบาทในทุกวันนี้
เส้นทางของ Jensen ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่ผ่านการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอยู่เสมอ นับตั้งแต่อพยพพร้อมครอบครัวจากไต้หวันไปศึกษาเล่าเรียนในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเล็ก และการก่อตั้ง Nvidia ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 30 ปีและเคยเกือบต้องยุติกิจการมาแล้วเมื่อปี 1996 เพราะบริหารงานผิดพลาด
แต่การเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายแล้วฝ่าฟันมาจนสำเร็จได้อย่างงดงามในวันนี้เขาเปิดเผยในงานปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่เขาเคยเป็นศิษย์เก่าว่า “ความยืดหยุ่น” หรือ Resilience เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เขาอยู่รอดจนประสบความสำเร็จได้ในท้ายที่สุด
เขาย้ำว่าการเกิดที่ไหน เรียนจบจากที่ไหน ได้เกรดเท่าไร ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วคนที่ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวนั้นมักเป็นคนที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า เพราะความยืดหยุ่นนั้นจะทำให้เขาล้มและลุกขึ้นมาได้เร็วกว่าคนอื่นเสมอ
ประโยคนี้ทำให้ผมสนใจในความคิดของเขา เพราะใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการคัดเลือกผู้ร่วมงานในอดีตที่ผมมักสัมภาษณ์ผู้สมัครด้วยตัวเอง โดยใช้คำถามคล้ายกันในเรื่องของความสำเร็จที่ได้รับจากการทำงาน
ซึ่งผมจะสอบถามต่อไปถึงองค์ประกอบว่าเขาทำสำเร็จได้เพราะอะไร และมีอะไรที่ล้มเหลวบ้างไหม หากมีเขาได้เรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวนั้นบ้าง หากย้อนเวลากลับไปได้จะแก้ไขอย่างไร ฯลฯ ซึ่งคำตอบเหล่านี้จะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติต่อการปรับตัวและความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเขาได้เป็นอย่างดี
เพราะผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความ Resilience ติดตัวมาแต่กำเนิด นั่นคือเราเกิดมาทำได้เพียงขยับตัวไปมา ก่อนจะหัดคลาน แล้วหัดยืน หัดเดิน และหัดวิ่ง ซึ่งทุกขั้นตอนเราล้วนล้มลงครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีใครย่อท้อ เมื่อล้มลงแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ ก้าวเดินต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเดินและวิ่งได้คล่อง
ความยืดหยุ่นและไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาจึงเป็นทักษะที่เรามีตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ และเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้มนุษย์เติบโตจนสร้างวิวัฒนาการต่างๆ มากมาย แต่มาถึงวันนี้หลายๆ คนกลับมองข้ามความสำคัญของทักษะนี้และยึดติดกับระบบระเบียบต่างๆ ที่มีโดยไม่พยายามปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะระบบการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่เรามักจะให้ความสำคัญเฉพาะกับการศึกษาในระบบซึ่งก็คือเรื่องของวิชาการเช่นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา จึงเน้นการทำข้อสอบและการติวโจทย์ยากๆ เพื่อการทำคะแนนให้สูงที่สุดเพื่อเน้นแข่งขันทางวิชาการ
แต่ขาดกระบวนการที่สร้างให้เด็กรู้จักจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเองแล้วปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เหมือนกันกับการวัดความเฉลียวฉลาดทางปัญญา (IQ) และความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งน่าจะต้องมีความเฉลียวฉลาดทางการปรับตัว (RQ: Resilience Quotient) เพื่อประเมินความสามารถในการปรับตัวของเด็กด้วยเช่นกัน
ผมเชื่อว่าความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและหน้าที่การงานนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของผู้ที่จะอยู่รอดได้ในโลกธุรกิจอนาคต เพราะความยืดหยุ่นจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เรามีความพยายาม มุ่งมั่น ตั้งใจ และทำให้เราหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ พัฒนาตัวเองและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง
และความ Resilience ก็จะทำให้เราลุกขึ้นมาอย่างรวดเร็วเมื่อพบเจอกับปัญหาและอุปสรรคจนอาจทำให้ล้มเหลว เพราะความล้มเหลวนั้นอาจเป็นต้นทุนสำคัญให้เราประสบความสำเร็จได้ในอนาคต ซึ่งคนที่มี RQ ต่ำมักโศกเศร้าเสียใจจนขาดกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ในขณะที่คนที่มี RQ สูง แม้จะผิดหวังแต่ก็พร้อมจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและหาทางป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ แล้วเริ่มต้นใหม่ทันทีเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ซึ่งย่อมทำให้เขามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าในท้ายที่สุด