ศูนย์ข้อมูลคลาวด์ในไทยกับนโยบาย "Cloud First"และ“พัฒนาทักษะดิจิทัล”
จริงๆ แล้ว ไมโครซอฟท์ไม่ใช่ผู้ประกอบการคลาวด์รายใหญ่รายแรก ที่มาประกาศตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย ปลายปี 2022 บริษัท AWS หรือ Amazon Web Services ก็เคยประกาศลงทุนจะตั้ง Cloud Region ในประเทศไทย มีแผนขยายการลงทุนด้วยวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี
“สัตยา นาเดลลา" ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ ไมโครซอฟท์ มาเมืองไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เขากล่าวบรรยายในการจัดงานของไมโครซอฟท์ทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้น คือ ไมโครซอฟท์ ประกาศตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งแรกในไทย เพื่อขยายบริการ Hyperscale Cloud และ AI ของไมโครซอฟท์ในไทย พร้อมทั้งจะมีการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ให้คนไทยกว่า 100,000 คน
จริงๆ แล้ว ไมโครซอฟท์ไม่ใช่ผู้ประกอบการคลาวด์รายใหญ่รายแรก ที่มาประกาศตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย ปลายปี 2022 บริษัท AWS หรือ Amazon Web Services ก็เคยประกาศลงทุนจะตั้ง Cloud Region ในประเทศไทย มีแผนขยายการลงทุนด้วยวงเงิน 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี หากไปดูข้อมูลล่าสุดในเว็บของ AWS จะพบว่ายังอยู่ระหว่างการจัดตั้งและคาดว่าจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้
ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะรายใหญ่ต่างก็มีการสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ Cloud Region กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงเป็นการลงทุนตามปริมาณการใช้งาน โดย AWS มี 33 Cloud Region ทั่วโลก และมีแผนเพิ่ม Availability Zone อีก 18 แห่ง พร้อมทั้งเปิด 6 Cloud Region ใหม่ในมาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ไทย
ขณะที่ AWS European Sovereign CloudMicrosoft Azure มีการให้บริการ Cloud Region ใน 5 ภูมิภาคหลัก ได้แก่ Asia Pacific, Europe, Americas, Government Services และพื้นที่อื่นครอบคลุมกว่า 60 Region ทั่วโลก
รวมถึงฮ่องกง สิงคโปร์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ บราซิล แคนาดา ชิลี ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน และอีกหลายประเทศ Google Cloud Platform มี Cloud Region ใน 26 ประเทศ และ 40 แห่งทั่วโลก นอกเหนือจากในสหรัฐอเมริกายังครอบคลุมไปถึง เม็กซิโก บราซิล โปแลนด์ ฟินแลนด์ อินเดีย กาต้าร์ และแอฟริกาใต้
ในอาเซียนผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ต่างก็มีศูนย์ข้อมูลในสิงคโปร์มานานแล้ว และทุกรายก็ขยายไปตั้งที่อินโดนีเซียเสร็จสิ้นไปเรียบร้อย และประเทศที่จัดตั้งเพิ่มในย่านนี้ก็คือไทยและมาเลเซีย จากปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น
ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่กับ การสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ” และ “นโยบาย Cloud First จุดเริ่มต้น พัฒนาระบบไอทียุคปัจจุบัน” ไว้ก่อนหน้านี้ โดยกล่าวถึงความสำคัญผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมของไทย ให้องค์กรต่างๆ พัฒนาระบบไอที และสร้างโซลูชันใหม่ๆ ได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะหากตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ
การมีศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในประเทศ ถือเป็นโอกาสดีที่จะเร่งการใช้บริการคลาวด์ขององค์กรต่างๆ ในประเทศ ในแง่การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ลดความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลไว้นอกประเทศ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานจากระยะทางที่ใกล้ขึ้น
อีกแง่มุมที่สำคัญ คือ ศูนย์ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น Big Data, AI, Blockchain และ IoT ขององค์กรไทย การใช้คลาวด์สาธารณะจะทำให้องค์กรพัฒนาระบบเหล่านี้ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการลงทุนสร้างเอง ทั้งในแง่ต้นทุน ความยืดหยุ่น และการอัพเดตเทคโนโลยีล่าสุด
การที่ภาครัฐและเอกชนสามารถใช้บริการคลาวด์สาธารณะ ผ่านศูนย์ข้อมูลในประเทศได้อย่างสะดวก จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบคลาวด์สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเร่งให้เกิดการปฏิบัติตามนโยบาย “Cloud First” ที่ผมเคยเขียนถึงในบทความก่อน
ซึ่งนโยบาย “Cloud First” จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้การพัฒนาระบบและนวัตกรรมไอทีขององค์กรไทยรวดเร็วขึ้น สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้องรอการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นของตนเองก่อน ที่อาจใช้เวลานานเกินไป
นอกจากนี้ การมีศูนย์ข้อมูลในประเทศ ยังจะกระตุ้นให้ผู้ใช้ไอทีและนักพัฒนาระบบของไทยหันมาเรียนรู้และพัฒนาทักษะการใช้คลาวด์สาธารณะให้เชี่ยวชาญมากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากบริการของศูนย์ข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ และสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้มากขึ้นด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศ การมีศูนย์ข้อมูลจะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนกล้าที่จะใช้คลาวด์สาธารณะมากขึ้น เนื่องจากเห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ให้บริการที่เข้ามาลงทุนในประเทศ และเชื่อมั่นในเสถียรภาพของการให้บริการ การปฏิบัติตามกฎหมาย และ SLA ที่ผู้ให้บริการเสนอ
ในขณะที่หากไม่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศ องค์กรต่างๆ อาจยังลังเล หรือชะลอการใช้คลาวด์สาธารณะออกไป โดยเฉพาะหากยังกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงประเด็นเชิงกฎหมาย เช่น การถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลข้ามประเทศ ตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
การมีศูนย์ข้อมูลในประเทศ จะช่วยลดอุปสรรคและความกังวลต่างๆ ในการใช้คลาวด์สาธารณะได้ส่วนหนึ่ง รวมถึงช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ทำให้คนไทยอยากเข้ามาใช้บริการและพัฒนาทักษะด้านคลาวด์กันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การมีศูนย์ข้อมูลในประเทศ ก็อาจมีข้อกังวลบางประการ โดยเฉพาะในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากศูนย์ข้อมูลต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากในการทำความเย็น และมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งอาจขัดแย้งกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Net Zero ขององค์กรต่างๆ
ผู้ให้บริการคลาวด์หลายรายก็ตระหนักถึงปัญหานี้ และพยายามแก้ไขโดยการเพิ่มประสิทธิภาพใช้พลังงานในศูนย์ข้อมูล การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม มาทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ผ่านโครงการปลูกป่าต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
การที่ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะรายใหญ่มาตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ จึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบาย “Cloud First” และการพัฒนาทักษะคนไทยด้านดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ทั้งภาครัฐและเอกชนควรต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ พัฒนานวัตกรรมและบริการดิจิทัล สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต