เปิดแผน ‘กสทช.’ นำสายสื่อสารลงดินเขต กทม.-ปริมณฑล มั่นใจต้องแล้วเสร็จปี 67
สำนักงาน กสทช. เปิดรายละเอียดแผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร พื้นที่ กทม.-ปริมณฑล แบ่งเป็นการจัดระเบียบสาย 151 เส้นทาง ระยะทาง 440.21 กม.และ การนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน 32 เส้นทาง ระยะทาง 67.02 กม.มั่นใจดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้
สายโทรคมนาคมตามเสาไฟฟ้า สายสื่อสาร ยังคงเป็นปัญหากับประเทศไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงและพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของทัศนียภาพ อุบัติเหตุ เมื่อมีสายระโยงระยางลงมาบนท้องถนน รวมถึงปัญหาไฟไหม้สายสื่อสาร และล่าสุดอุบัติเหตุที่น่าเศร้าใจจากที่ประชาชนเดินข้ามถนน แล้วหล่นลงไปในท่อร้อยสาย ที่มีเพียงไม้อัดบางๆมาปิดปากบ่อเอาไว้ จนเสียชีวิต
เจ้าภาพหลักเรื่องนี้ มีทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้กำกับดูธุรกิจโทรคมนาคม ทำได้ คือการประสานการทำงานร่วมกับเจ้าของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย และกทม. เนื่องจากแต่เดิมเอกชนใช้การพาดสายบนเสาไฟฟ้าในราคาไม่แพง ดังนั้นหาก กสทช.จะบังคับเอกชนให้ลงไปเช่าท่อร้อยสายในราคาที่แพงขึ้นกว่า 10 เท่า จึงเป็นเรื่องยาก
ดังนั้น แผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย ส่วนใหญ่จึงเป็นการทำงานร่วมกับ กฟน. หาก กฟน.มีแผนในการหักเสาไฟฟ้า ในเส้นทางไหน ก็จะมีการนำสายสื่อสารลงไปด้วย แต่หากยังไม่มีการหักเสา สำนักงาน กสทช.ก็ต้องดำเนินการจัดระเบียบสาย สำรวจสายตาย หรือ สายที่ไม่ได้ใช้งาน โดยการตัดทิ้ง และติดตามสายที่เกิดใหม่ ต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการลากสาย รวมถึงการมีนโยบาย Single Last Mile ในการลากสายเข้าหมู่บ้าน ขอให้มีเจ้าภาพเพียงรายเดียว แม้ เพราะปัญหาสายรก รุงรัง ส่วนใหญ่มาจากประชาชนเปลี่ยนผู้ใช้บริการ ทำให้มีการลากสายเพิ่ม ให้เปลี่ยนเป็นใช้สายเดียวร่วมกัน
สำหรับแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสาย ของกสทช.ปี 2567 ประกอบด้วย
1.การจัดระเบียบสายสื่อสาร จำนวน 151 เส้นทาง ระยะทาง 440.21 กม. 2.การนำสายสื่อสารลงท่อร้อยสายใต้ดิน จำนวน 32 เส้นทาง ระยะทาง 67.02 กม
มีผู้ให้บริการ จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย
1.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 17.4 กม.
2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทาง 16.9กม.
3.บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 12.3 กม.
4.บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทาง 10.1 กม.
5.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 5.3 กม.
6.บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จํากัด หรือ UIH จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 1.3 กม.
7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SYMC จำนวน 1 เส้นทาง ระยะทาง 3.72 กม.
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา NT มีความพยายามในการขอเป็นผู้ให้บริการท่อร้อยสาย เพื่อให้การนำสายสื่อสารลงดินรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอโครงการที่กฟน.ทำ นั่นคือการหักเสา และสร้างท่อร้อยสายใหม่ เพื่อให้สายไฟฟ้า และ สายสื่อสาร อยู่ร่วมกัน จึงต้องใช้เวลานาน แต่เนื่องจาก NT มีท่อร้อยสายพร้อมใช้งานได้ทันที 4,450 กม.ทั่วประเทศ แบ่งเป็นท่อร้อยสายในพื้นที่นครหลวง 3,600 กิโลเมตร และภูมิภาค 850 กม. สามารถทำได้ทันที แต่ด้วยราคาค่าเช่าที่ NT ตั้งไว้สูงกว่า การพาดสาย 10 เท่า
ดังนั้น จึงทำให้ความพยายามของ NT ไม่เป็นผล และรัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณมาช่วยเอกชน แม้ว่าในสมัยที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เอ่ยปากว่าจะอาสาของบประมาณจากรัฐบาลมาเดินหน้าโครงการนี้ ก็ยังต้องพับไป
ขณะที่ กทม.เอง ในสมัยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่า กทม. ก็มีการให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดโครงการหาผู้ประมูลมาสร้างท่อร้อยสายใหม่ เช่นกัน แต่เมื่อนำร่องทำในบางพื้นที่แล้ว ก็ไม่มีเอกชนรายใดมาเช่า เช่นกัน ด้วยราคาที่แพงกว่าการพาดสายบนเสาไฟฟ้าแบบเดิมๆ
และหากถามถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้กรุงเทพมหานคร เป็น มหานครแห่งอาเซียน เป็นเมืองไร้สาย จนถึงตอนนี้คงพูดได้ว่า คงเป็นเพียงความฝันตามต่อไป... รอให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตื่นขึ้นมามองปัญหาจริงๆเสียที