Whoscall ผุดแคมเปญ ‘จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย’ รับมือมิจฉาชีพยุค AI
‘จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย’ Whoscall ร่วมกับภาครัฐ-เอกชน รับมือกลลวงมิจฉาชีพยุค AI ตั้งเป้าปี 2567 ช่วยไทยเซฟเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท ลดมูลค่าความเสียหายจากโจรกรรม
นับตั้งแต่การระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ได้ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ โจรในยุค 5.0 มีการพัฒนากลลวงให้ทันกับเทคโนโลยีเอไอ ดีปเฟค (deepfake) และการตั้งรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เสมอ
จึงทำให้ Whoscall แอปพลิเคชันสัญชาติไต้หวันตรวจสอบเบอร์ที่ไม่รู้จัก รวมกำลังกับทุกภาคส่วนจัดแคมเปญ “จับมือเพื่อนรัก ตัดสายมิจร้าย” ให้ความรู้ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ สร้างการรับรู้และภูมิคุ้มกัน ป้องกันการถูกหลอกลวง รวมถึงมอบเครื่องมือด้านเทคโนโลยีเป็นเกราะป้องกันภัยแก่ประชาชนชาวไทย
แมนวู จู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท Gogolook จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall กล่าวว่า สำหรับปี 2566 คนไทยได้รับข้อความ SMS ที่เป็นข้อความสแปมและข้อความหลอกลวงเฉลี่ย 6 ใน 10 ครั้ง ของข้อความ SMS ทั้งหมดที่ได้รับ หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ซึ่งไทยยังเป็นประเทศที่ติดอันดับการได้รับข้อความ SMS หลอกลวงสูงที่สุดในเอเชีย
โดยการหลอกลวงนั้นจะมีหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกให้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันปลอม เช่น ส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดคือ 27% การหลอกให้ดาวน์โหลดโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่อันตราย 20% และการหลอกให้เข้าไปที่หน้าช้อปปิ้งออนไลน์ปลอม 8%
ทาง Whoscall ยังมีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติในปี 2566 คนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ วันละ 217,047 ราย โดยมีคนไทยได้รับสายจากมิจฉาชีพถึง 20.8 ล้านครั้ง และถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจาก SMS มากกว่า 58.3 ล้านข้อความ
ซึ่งเป็นจำนวนยอดที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่มียอดรวมของ สายโทรศัพท์หลอกลวงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22 และ ข้อความ SMS เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17 รวมมูลค่าความเสียหายสะสมกว่า 53,875 ล้านบาท
ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ บริษัท Gogolook กล่าวว่า เริ่มพบเห็นการหลอกในรูปแบบโทรมาด้วยเสียงของคนที่คุ้นเคยและข้อมูลที่ระบุตัวตนถูกต้อง ซึ่งสามารถทำให้ตกเป็นเหยื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น คนไทยทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องร่วมกันต่อต้านภัยคุกคามที่ความเสี่ยงต่อการสูญเสียทรัพย์สินยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 2567 Whoscall จึงตั้งเป้าที่จะช่วยไทยลดความสูญเสียทางทรัพย์สินจำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท จากมิจฉาชีพ และรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Whoscall เพื่อให้เป็นแอปกันมิจฉาชีพที่ทุกคนต้องมี
นอกจากนี้ Whoscall ยังจัดกิจกรรมแจกโค้ด Whoscall พรีเมียม ฟรี จำนวน 3 ล้านโค้ด ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ รวมมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท เริ่มตั้งแต่ พ.ค. เป็นต้นไป