แพลตฟอร์มชำระเงินกลางภายใต้ โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ท้าทายแต่เสี่ยง
คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) เป้าหมาโครงการนี้ คือ ต้องการเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินกลางของ ไทยที่สามารถรองรับการใช้งานประชาชน และภาคธุรกิจผ่านการเชื่อมต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ทางคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการแพลตฟอร์มการชำระเงิน (Payment Platform) เป็นเงินทั้งสิ้น 95 ล้านบาท โดยให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) เป็นผู้ดำเนินการ และให้หน่วยงานรัฐ และสถาบันการเงินร่วมมือกับ สพร. สนับสนุนข้อมูลและร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะต่อไป
ซึ่งหากเข้าไปดูรายละเอียดในสรุปย่อของมติครม. จะพบว่าเป้าหมายโครงการนี้ คือ ต้องการเป็นแพลตฟอร์มชำระเงินกลางของประเทศไทยที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชน และภาคธุรกิจผ่านการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินได้ทุกรายที่เข้าร่วมโครงการ
โดยมีตัวอย่างการพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ที่พัฒนาระบบเพย์นาว (PayNow) เมื่อปี 2560 โดยประชาชนใช้ชำระค่าบริการหรือสินค้าได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาชนสามารถเชื่อมบัญชีของธนาคารใดก็ได้
ขณะที่ อินเดีย มี Bharat Interface for Money (BHIM) ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนแนวคิด “อินเดียดิจิทัล” ที่ส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลและการสร้างความเข้าถึงทางการเงิน
จากรายละเอียดระบุว่า กรอบแนวคิดพัฒนาโครงการนี้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ผ่าน Government Super Application โดยข้อมูลการร้องขอ จะถูกส่งไปยังแพลตฟอร์มการชำระเงิน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้แอปพลิเคชันธนาคาร หรือแอปพลิเคชันทางการเงิน หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์รายใดก็ได้ที่เข้าร่วมโครงการ
นอกจากการตั้งเป้าให้เป็น Super App ภาครัฐแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบรายการให้เป็นไปตามกฎหรือกติกาตามที่ภาครัฐกำหนด เพื่อบันทึกและเก็บข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ที่น่าสนใจคือ โครงการนี้จะใช้เวลาดำเนินการในระยะแรก จำนวน 160 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการจัดซื้อจัดจ้าง) โดยกำหนดช่วงเวลาดำเนินการพัฒนาและทดสอบระบบ ในระหว่าง กรกฎาคม-ธันวาคม ปีนี้ และกำหนดการให้บริการระบบและสนับสนุนการใช้งานในช่วง ตุลาคม 2567-มีนาคม 2568 ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องเพื่อให้ทันกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบางท่านชี้ให้เห็นถึงความไม่ชัดเจน และความซับซ้อนของระบบ ทั้งในแง่ของการทำงานร่วมกับธนาคารและผู้ให้บริการ e-wallet การยืนยันตัวตนและตรวจสอบเงื่อนไขการใช้สิทธิของประชาชน รวมถึงกรณีพิเศษต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ยังกังวลเรื่องความพร้อมของระบบในการรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก และความเสี่ยงจากการทุจริต พร้อมทั้งมองว่า ระยะเวลาและงบประมาณ 95 ล้านบาท สำหรับพัฒนาระบบอาจจะไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับความซับซ้อนของโครงการ ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้นำเสนอข้อซักถามและข้อเสนอแนะต่อโครงการ Payment Platform ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ขอบเขตและวัตถุประสงค์ของแพลตฟอร์มการชำระเงินควรมีความชัดเจนว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศ หรือเป็นเพียง Transaction Processing System เพื่อตรวจสอบรายการตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ถ้าเป็นแพลตฟอร์มกลาง ควรต่อยอดจากระบบที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นแค่ระบบตรวจสอบรายการ ก็ควรทำให้ขอบเขตสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
2. การพัฒนาระบบที่ซับซ้อน ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งเรื่องบุคลากร งบประมาณ และระยะเวลา โดยเฉพาะระบบลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของผู้ใช้ที่ต้องรัดกุม และระบบตรวจสอบเงื่อนไขการชำระเงินที่ต้องรองรับเงื่อนไขและปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก นอกจากนี้ การเลือกพัฒนาเป็นระบบเปิด (Open-loop) ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนและระยะเวลาในการพัฒนา
3. ควรประเมินงบประมาณ 95 ล้านบาท ให้ชัดเจนว่าครอบคลุมส่วนใดบ้าง และต้องคำนึงถึงต้นทุนของผู้ให้บริการที่จะเข้ามาเชื่อมต่อด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการพัฒนา Mobile Banking Application ขั้นพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์บางแห่งมีต้นทุนเริ่มต้นประมาณ 300 ล้านบาท
เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบ ธปท. จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ผมเองเคยเขียนบทความการพัฒนาระบบที่จะมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลมาแล้วหลายครั้งว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำ และเทคโนโลยีที่จะใช้อย่างบล็อกเชนก็มีความซับซ้อนยากที่จะขยายให้สามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้ และอาจต้องใช้ระยะเวลานานและงบประมาณจำนวนมาก
ในเมื่อรัฐบาลยังยืนยันว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่ให้แล้วเสร็จภายในไม่กี่เดือนได้คงต้องลองดูกัน ซึ่งหากทำสำเร็จได้ทั้งระบบลงทะเบียน ระบบชำระเงินกลาง อีกทั้งยังเป็นระบบเปิดที่เชื่อมต่อแอปของหน่วยงานต่างๆ มากมาย และมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการเก็บข้อมูล โดยใช้งบประมาณเริ่มต้นเพียง 95 ล้านบาท และระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนในการพัฒนาถือว่าคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศมาก
แต่ก็อดห่วงด้านความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และหากโครงการไม่สำเร็จก็อาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ