ลุ้นบอร์ดกสทช.ชงวาระพิจารณาคำค้านไม่ให้ 'พิรงรอง' เข้าปฏิบัติหน้าที่
จับตาวาระลับบอร์ดกสทช. พิจารณาคำคัดค้านไม่ให้ 'พิรงรอง' ปฏิบัติหน้าที่ในวาระเกี่ยวกับกลุ่มบริษัททรู หลังอนุฯ โทรทัศน์มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำคัดค้านไปก่อนหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมพิจารณาหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวพิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งยื่นโดยบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ของ กสทช. มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. พิรงรองในการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัททรูฯ
ดังนั้น ในวันนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. มีกำหนดการประชุมบอร์ด ครั้งที่ 11/2567 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องจากวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในวาระการประชุมจะมีการพิจารณาหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของนางสาวพิรงรอง ซึ่งยื่นโดยบริษัททรู ดิจิทัลฯ และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นฯ เป็นระเบียบวาระที่เป็นการประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าฟัง (ลับ)
การมีคำร้องคัดค้านดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีที่บริษัท ทรู ดิจิทัล ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น ทรูไอดี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวพิรงรอง ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อปี 2566 โดยกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีที่สำนักงาน กสทช. มีการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย ซึ่งอาจทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่โจทก์นำไปออกอากาศ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ทรู ดิจิทัลและทรูคอร์ปฯได้ร่วมกันมีหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่งมาถึง นางสาวพิรงรอง และนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
ในช่วงเวลาเดียวกันทรู ดิจิทัลได้ยื่นคำร้องที่มีเนื้อหาแบบเดียวกันไปยังศาลอาญาคดีทุจริตฯ ด้วย เพื่อให้ศาลสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ของ นางสาวพิรงรอง ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
แต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใดหรือพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ หรือขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ หรือกลุ่มบริษัทในเครือโจทก์ จึงยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือกำหนดมาตรการหรือออกข้อกำหนดใด ๆ ตามที่โจทก์ร้องขอ แต่หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่สำนักงาน กสทช. ระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ มีการพิจารณาหนังสือของ ทรู ดิจิทัล และทรู คอร์ปฯ ซึ่งยื่นร้องคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และคณะอนุกรรมการใดๆ ที่ กสทช. ได้แต่งตั้งนางสาวพิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยคัดค้านไม่ให้พิจารณาในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการของบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ และบริษัทในกลุ่มบริษัททรู ที่อยู่ภายใต้การอนุญาตและการกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กสทช.
แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้นำหนังสือคัดค้านดังกล่าวมาพิจารณาเป็นวาระลับ ขณะที่นางสาวพิรงรอง แจ้งต่อที่ประชุมอนุกรรมการฯ ก่อนการประชุมว่าไม่ประสงค์แสดงความคิดเห็นและร่วมลงมติในวาระนี้ อย่างไรก็ตาม อนุกรรมการฯ ได้ลงมติเอกฉันท์ไม่รับคำคัดค้านไว้พิจารณา
ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. หนังสือมอบอำนาจให้ผู้แทนมายื่นคัดค้าน พิจารณาแล้วเป็นการมอบอำนาจในลักษณะของตัวการตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดขอบเขตการมอบอำนาจให้เฉพาะการติดต่อประสานงานทั่วไป และการออกหนังสือ การให้ข้อมูล การยื่นเอกสาร การรับเอกสาร การตอบข้อซักถาม การแสดงความเห็นใด ๆ ในเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม กิจการวิทยุคมนาคม และกิจการอื่นใดของผู้ร้องซึ่งเป็นการมอบอำนาจในเรื่องที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้ร้อง แต่มิได้มอบอำนาจให้ดำเนินการยื่นคัดค้านการปฎิบัติหน้าที่ของ กสทช. ตาม พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังนั้น การมอบอำนาจให้มายื่นคำร้องจึงไม่สมบูรณ์ คำร้องดังกล่าวจึงยังไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้
2.การยื่นคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ประธานอนุกรรมการฯ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรู ดิจิทัล และทรูคอร์ปฯ และกลุ่มบริษัทในเครือบริษัททรูฯ ในลักษณะคาดการณ์ล่วงหน้าแบบเหมารวมว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากการพิจารณาเหตุตามมาตรา 16 แห่ง พรบ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป
3.หากพิจารณาตามมาตรา 16 (2) ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จะเห็นได้ว่าผู้ร้อง คือทรู ดิจิทัล และทรู คอร์ปฯ ไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ในการกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. จึงยังไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ที่จะถือว่าเป็นคู่กรณีที่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านตามกฎหมาย
4.ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นกรณีที่ กสทช. แต่งตั้งเพื่อมอบหมายให้ทำหน้าที่กลั่นกรองให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ และความเห็นต่อ กสทช. เพื่อให้ที่ประชุม กสทช. นำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจ วินิจฉัย ชี้ขาด หรือออกคำสั่งทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ ดังนั้นมติคณะอนุกรรมการฯ ที่ออกมาในทุกเรื่องจึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด