ไขข้อข้องใจ ‘ไมโครซอฟท์’ จริงจังแค่ไหนกับ ‘การลงทุนไทย’

ไขข้อข้องใจ ‘ไมโครซอฟท์’ จริงจังแค่ไหนกับ ‘การลงทุนไทย’

ตอบคำถามคาใจของหลายๆ คน หลัง "สัตยา นาเดลลา" มาเยือนไทย ที่สงสัยว่า “ไมโครซอฟท์” จริงจังแค่ไหนกับการลงทุนในประเทศไทย และทำไมถึงไม่เปิดเผยตัวเลขการลงทุนเหมือนเช่นที่ไปอินโดนีเซียและมาเลเซีย

KEY

POINTS

  • ไมโครซอฟท์ขอยืนยันว่าจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน
  • การที่ไม่มีตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนในไทย “ไม่ได้มีนัยสำคัญที่บ่งบอกว่าใครสำคัญกว่าใคร”
  • ไมโครซอฟท์และรัฐบาลไทยจะทำงานร่วมกันในระยะยาว มีการประเมินผลทุกปีและปรับปรุงแผนทุกๆ 3 ปี

การเดินทางมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอ “ไมโครซอฟท์” เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งนักพัฒนา คนในวงการไอที รวมถึงแวดวงธุรกิจให้ความสนใจจับตามอง

ทว่าหลังจากมีการประกาศแผนว่าจะมีการลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ AI ยกระดับศักยภาพบุคลากร ชุมชนนักพัฒนา ต่อยอดเอ็มโอยูกับรัฐบาล

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คน อาจพอจะอธิบายได้ว่า “ก็ดี โอเคแหละ แต่แค่นี้?” และหลายๆ คนคงอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าทำไม?

เพราะที่อินโดนีเซียซึ่งซีอีโอไมโครซอฟท์ไปเยือนเป็นประเทศแรก มีตัวเลขเม็ดเงินลงทุน 1,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 63,000 ล้านบาท) ขณะที่ มาเลเซียที่ไปเป็นประเทศที่สามเตรียมลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 81,000 ล้านบาท แต่ที่ไทยกลับไม่มีตัวเลขหรือไทม์ไลน์ใดๆ ที่ชัดเจนออกมา...

ให้คำมั่น ‘ลงทุนไทย’ แน่นอน

ประเด็นนี้ ชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานกลุ่มธุรกิจภาครัฐ ภาคการศึกษา และสาธารณสุข ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ไมโครซอฟท์มีความตั้งใจจริงที่จะลงทุนในประเทศไทยขอ “นั่งยัน ยืนยัน นอนยัน” ว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยอย่างแน่นอน

แต่ที่ไม่มีตัวเลขออกมาให้เห็นเนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการด้านวิศวกรรม ประเมินดีมานด์ ซัพพลาย รวมถึงทำงานร่วมกับภาครัฐและทางผู้กำกับดูแล เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการลงทุนที่สอดคล้องไปกับบริบทและความต้องการของประเทศ ส่วนที่อินโดนีเซียและมาเลเซียมีการทำงานร่วมกันมาก่อนจึงมีตัวเลขที่ชัดเจนออกมา

“การลงทุนนั้นมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาเพื่อลงรายละเอียดให้ชัดเจน และอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกันกับทั่วโลก นอกจากพิจารณาถึงดีมานด์ ซัพพลาย ต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าทุกอย่างลงตัวก็พร้อมเดินหน้าได้ทันที”

อย่างไรก็ดี การที่ไม่มีตัวเลขเม็ดเงินการลงทุนในไทย “ไม่ได้มีนัยสำคัญที่บ่งบอกว่าใครสำคัญกว่าใคร” และไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญ

เดินหน้า ‘เอ็มโอยู’ ตามแผน

แน่นอนว่า การมาของดาต้าเซ็นเตอร์จะไม่ใช่เพียงแค่สถานที่ทางกายภาพเพียงแห่งเดียว แต่หมายถึงทุกองคาพยพ ทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยี ทักษะ และที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อมีซัพพลายแล้วย่อมช่วยกระตุ้นดีมานด์และการเติบโตของอีโคซิสเต็มโดยภาพรวม

สำหรับความคืบหน้าของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ ที่ได้ประกาศความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี เพื่อนำประเทศไทยสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI  ไขข้อข้องใจ ‘ไมโครซอฟท์’ จริงจังแค่ไหนกับ ‘การลงทุนไทย’ ขณะนี้ทุกอย่างยังคง “on track” ตามแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้ทั้งใน 4 แกนหลัก คือ ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล, ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI, เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า, และยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับไปกับวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ของรัฐบาลไทย

>> ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล : ลงทุนจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคโดยจะมี 3 Availability Zone, ความร่วมมือในโครงการ Microsoft Government Security Program ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.) และไมโครซอฟท์ ประเทศไทย

>> ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI : ผลักดันการพัฒนาด้านอีกอฟเวอร์เมนท์ พร้อมมีความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำฐานข้อมูลทางสุขภาพ “Health GPT” , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำเทคโนโลยีไปช่วยด้านการรวบรวม สรุปข้อมูล, กระทรวงการคลัง ยกระดับการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล, และเตรียมตั้ง AI Center of Excellence ร่วมกับดีอี

ปักธงเป้าหมาย ‘Born in Thailand’

>> เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า : สานต่อเป้าหมาย อัปสกิล/รีสกิล ให้กับคนไทย 10 ล้านคน เฉพาะทักษะด้านAIไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน, ส่งเสริมทักษะAIเพื่อการท่องเที่ยว, ทั้งไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Asia AI Odyssey ที่ไมโครซอฟท์จะสนับสนุนทักษะด้าน AI ให้กับนักพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค

>> ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน : ดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100%

ไมโครซอฟท์และรัฐบาลไทยจะมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทุกๆ ปีจะต้องมีการประเมินผลและจะมีการทบทวนเพื่อปรับปรุงแผนงานที่จะทำร่วมกันในทุกๆ 3 ปี

โดยเบื้องต้นกรอบการทำงานจะอยู่ภายใต้โจทย์ของการพัฒนาบริการสำหรับภาคประชาชน ทำดาต้าอินไซต์ ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน และแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างกัน พร้อมผลักดันให้ภาครัฐกลายเป็นผู้ “Enabler” ต่อยอดไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในทุกภาคส่วน

งานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Kearney คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพีของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 37,000 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นยอดจีดีพีของประเทศไทยที่จะเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.3 ล้านล้านบาท

ดังนั้นไมโครซอฟท์มีแผนผลักดันการใช้งานเทคโนโลยี AI ในไทยอย่างเป็นรูปธรรม โฟกัสถึงการมองไปข้างหน้าว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ขณะเดียวกันเกิดข้อจำกัดน้อยที่สุด และสามารถนำไปต่อยอดได้เร็วที่สุด

ที่ขาดไม่ได้ผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากผู้ใช้งานไปเป็นผู้สร้าง จาก “Made in Thailand” ไปเป็น “Born in Thailand” และกลายเป็น "ผู้ส่งออกนวัตกรรม"

มอง  3 ปัจจัยบูม GenAI

ประเมินขณะนี้ การปรับใช้เทคโนโลยี AI ขององค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยนับว่าก้าวหน้าไปกว่า 100% แล้ว ส่วนองค์กรขนาดกลางและเล็กก็ใช้เกือบทั้งหมดแล้วเช่นกัน

ส่วนของ Gen AI กำลังตามมาและมีการตื่นตัวอย่างมาก โดยปีนี้ได้เห็นว่าเริ่มมีการจัดทำโครงการนำร่องเพื่อใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ยิ่งถ้าระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ หรือ “Cloud First Policy” เกิดขึ้นจะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน

ไมโครซอฟท์มองว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวปลดล็อก Gen AI คือ Cloud First Policy, Procurement และการพัฒนาทักษะบุคลากร

“Cloud First Policy จะทำให้อุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ หมดไป ทำให้การปรับใช้งานเทคโนโลยีทำได้เร็วขึ้น สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ไกลมากขึ้น”

สำหรับการใช้งานจริงที่หลายๆ องค์กรเริ่มทดลองเป็นต้นแบบและมียูสเคสออกมามีอยู่หลากหลายทั้ง ผู้ช่วย AI, การแบ่งปันองค์ความรู้ แชตบอท คอลล์เซนเตอร์ งานด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ฯลฯ

โดยจะเห็นได้ว่าไม่ได้เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาพลิกโฉมหรือเปลี่ยนเกมธุรกิจ ทว่าช่วยเพิ่มความสะดวก ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอินไซต์ และการทำงานเป็นไปแบบอัตโนมัติมากขึ้น