กสทช.ลงมติเอกฉันท์ให้ไลเซ่น 'OneWeb' ลุยบรอดแบนด์ดาวเทียมเจ้าแรกในไทย
'เอ็นที' ได้เฮพาร์ทเนอร์ OneWeb ได้ฤกษ์เปิดบริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำได้คาดเปิดบริการได้เดือนต.ค.นี้ หลังกสทช.ไฟเขียวไลเซ่นเกตเวย์ 5 ปี
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กสทช.) มอบหมายให้ พลเอกสิทธิชัย มากกุญชร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่าวันนี้ ( 27 พ.ค.) ที่ประชุมบอร์ดกสทช. จัดการประชุมครั้งที่ 11 (ต่อเนื่อง)มีมติเป็นเอกฉันท์เพื่อพิจารณาการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ
สำหรับโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit (LEO) ของบริษัท OneWeb เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ที่ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เพื่อให้บริการโทรคมนาคม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
โดยที่ประชุมฯ มีมติ ดังนี้
1.อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี
2.อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (satellite network capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของเอ็นที ที่จะสิ้นสุด 3 ส.ค. 2568 นี้
3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ให้ไปหารือ กรรมการกสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นการปรับเงื่อนไขใบอนุญาตให้สอดคล้องกัน
ทั้งนี้ บอร์ดกสทช. ได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพานิชย์ พ.ศ. 2564 และคำนึงถึงผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทย ที่ได้มีการประมูลไปแล้ว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพดีสูงขึ้น และราคาถูกลง อีกทั้งสามารถให้บริการได้ทุกที่ ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ทั้งในเชิงคุณภาพ บริการ และราคา อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการนี้ล่าช้ามากว่า 1 ปีครึ่ง ซึ่งเอ็นทีที่เป็นผู้ร่วมพันธมิตรกับ OneWeb ในพื้นที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย 100% แล้ว หลังจากที่มีการติดขัดเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์บางประเภทจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช.
โดยหลังจากดำเนินการจัดสร้างสถานีเกตเวย์สำหรับ OneWeb จะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียม OneWeb ซึ่งมีเป้าหมายให้บริการเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำทั่วโลก และเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 1 ปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันเอ็นทีมีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมนนทบุรี จ.นนทบุรี, สถานีดาวเทียมศรีราชา จ.ชลบุรี และ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี สำหรับสถานีเกตเวย์ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ “OneWeb Satellite Network Portal Site Hosting Services” ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ