‘ซีเมนส์’ หนุนสร้างอีโคซิสเต็มไทย ยึด ‘ฮับดาต้าเซ็นเตอร์’
NextGen Data Center Conference 2024 เปิดหนทางไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน จูงใจนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เลือกไทยเป็นจุดมุ่งหมายลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์
ซีเมนส์ (Siemens) เปิดเวทีสัมมนา NextGen Data Center Conference 2024 โดยมีภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสนอแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) เตรียมผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลสู่เศรษฐกิจสีเขียว พร้อมทั้งจูงใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เลือกไทยเป็นจุดมุ่งหมายลงทุนและผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค
ดาต้าเซ็นเตอร์ปลุกธุรกิจดิจิทัล
“ตามที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศนโยบาย Thailand Vision 2030 โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสากรรมของโลก พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การแพทย์ การผลิตยานยนต์ในอนาคต ฯลฯ รวมถึงการขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล”
รอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซีเมนส์ ประเทศไทย กล่าวเปิดสัมมนาฯ โดยอ้างอิงนโยบายของนายกฯ เศรษฐาดังกล่าว และแนะว่า การที่ไทยจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายนั้น ไทยจะต้องดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ได้
ประเทศไทยต้องทำการวิจัยและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปรับใช้เอไอ ที่สำคัญประเทศไทยจะต้องมีเงินลงทุนสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีปริมาณมาก เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเพื่อสนับสนุนคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เกมมิง แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีสุขภาพ เทคโนโลยีการตลาด อุตสาหกรรมหนัก ฯลฯ
คอนลอน ได้ยกตัวอย่าง “สิงคโปร์” ซึ่งเป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูล และเป็นฐานที่ตั้งหลักของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับโลกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่มาเลเซียก็พัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นผู้นำด้านศูนย์ข้อมูลที่กำลังเติบโตมากขึ้น
ในการขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาค ประเทศไทยได้พัฒนาการเชื่อมโยงทางไฟเบอร์อย่างแข็งขัน มีอัตราการส่งข้อมูลอยู่ที่ 140 เทราบิตต่อวินาที ซึ่งถือเป็นอัตราที่เร็วมาก ทั้งยังมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภคที่มั่นคงและปลอดภัย ระบบนิเวศอุตสาหกรรมก็มีความหลากหลาย ซึ่งมีผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในอุตสาหกรรม และประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อหัวสูงสุดในภูมิภาค ทำให้ผู้ให้บริการคลาวด์อยากมาตั้งศูนย์ข้อมูลในไทย และเข้าถึงผู้ใช้ปลายทาง (end users) ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ คอนลอนมองว่า ประเด็นความยั่งยืน และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (อีเอสจี) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับไฮเปอร์สเกล ซึ่งประเทศไทยและนักลงทุนทางการเงินให้ความสำคัญในด้านนี้อย่างมาก
“ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ต้องหาแนวทางที่ทำให้บริษัทสามารถเปลี่ยนผ่านศูนย์ข้อมูลของตน ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเปลี่ยนผ่านสีเขียวถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับศูนย์ข้อมูลในอนาคต” คอนลอน กล่าว
บีโอไอ อัดสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี ‘ดึงลงทุน’
ดร.รัชนี วัฒนวิศิษฏพร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยข้อมูลส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยว่า ตลาดศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทยมีมูลค่าเติบโตประมาณ 70% ต่อปี และมีศูนย์ข้อมูลทั้งหมด 13 แห่ง โดยปี 2563 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 พันล้านดอลลาร์
ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด ได้แก่ 1) นโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุดแก่ดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น การลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร เว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 13 ปี ฟรีวีซ่า ฯลฯ
2) การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ เช่น Cloud Computing, Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริษัทเอกชนรายใหญ่ รายเล็ก สตาร์ตอัป ตลอดจนผู้ประกอบการ ผู้ใช้งานทั่วไปมีการใช้เอไอมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น
3) การที่บริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่ง เช่น Amazon Web Services (AWS), Google Cloud, Internet Data Center (IDC), Alibaba Cloud, Huawei และ Microsoft Azure เข้ามาลงทุนในไทย แสดงให้เห็นว่า ไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาด้านดาต้าเซ็นเตอร์
และ 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ เช่น การขยายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำเพิ่มเป็น 13 สาย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับดาต้าเซ็นเตอร์
ดร.รัชนี กล่าวเพิ่มว่า บีโอไอ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ เตรียมผลักดันนโยบายและมาตรการจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนของอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีมาตรการสนับสนุนหลักๆ ดังนี้
1. ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดแก่อุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัล อาทิ ดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนาน 13 ปี พร้อมสิทธิเพิ่มเติมหากตั้งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
2. สนับสนุนเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยี ด้วยการยกเว้นภาษี ลดหย่อนภาษี และการอนุญาตให้นำเข้าอุปกรณ์ที่จำเป็นโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการลงทุนได้
3. อนุญาตให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติมากกว่าปกติ (แต่ไม่เกิน 100%) อนุญาตให้นำเงินกำไรออกนอกประเทศได้สะดวก ทั้งยังมีสำนักงาน BOI ประจำต่างประเทศกว่า 18 แห่ง เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและเงินลงทุนจากต่างประเทศ
4. ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ประสานหน่วยงานต่างๆ เช่น ขอวีซ่า ใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวก มุ่งเน้นไปที่บริษัทข้ามชาติที่ต้องการตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทย
5. สนับสนุนวีซ่าระยะยาวถึง 10 ปี (LTR Visa) สำหรับบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมดิจิทัล มีสิทธิประโยชน์พิเศษด้านภาษี 6. จัดตั้ง International Headquarters (IHQ) ให้บริการสำหรับบริษัทต่างชาติที่ต้องการตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในไทย
“มาตรการเหล่านี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและจูงใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเลือกประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายในการลงทุนด้านดิจิทัล และผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาค” ดร.รัชนี กล่าวทิ้งท้าย