เจาะลึก ‘AI’ บลูพรินต์ การเติบโตขั้นต่อไปของไทย

เจาะลึก ‘AI’ บลูพรินต์ การเติบโตขั้นต่อไปของไทย

ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน “ปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ถือเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจปฏิเสธได้...

KEY

POINTS

  • AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นบลูพรินต์สำหรับการเติบโตและการสร้างนวัตกรรมในอนาคตของประเทศไทย
  • AI จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

  • ข้อมูลเป็นเสาหลักที่สำคัญสำหรับความสำเร็จของ AI 

  • ธุรกิจไทยที่มีการบูรณาการ AI เข้ากับการดำเนินงานหลักจะสามารถปลดล็อกโอกาสมากมายสำหรับการเติบโตที่รวดเร็วและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

  • กุญแจสู่ความสำเร็จอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่าง AI และความฉลาดของมนุษย์

บาฟย่า คาปัวร์ กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อวานาด (Avanade) ผู้ให้บริการที่ปรึกษาและบริการด้านไอทีชั้นนำ เผยว่า ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นบลูพรินต์สำหรับการเติบโตและการสร้างนวัตกรรมในอนาคตของประเทศไทย

การสำรวจโดยอวานาดพบว่า ขณะนี้พนักงานในระดับต่างๆ มีทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับ AI และรู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพในการทำงาน โดย 97% ใช้ AI ในบทบาทปัจจุบันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ 57% ใช้ AI ในบทบาทการทำงานทุกวัน โดยต่างมีความคาดหวังว่า AI จะส่งผลกระทบต่องานในแต่ละวันเป็นส่วนใหญ่ภายในสิ้นปี 2567

ผลการวิจัยจากเคียร์นีย์ (Kearney) พบว่า AI จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 เนื่องจากจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ และขับเคลื่อนนวัตกรรมทั่วทั้งภาคส่วน

สำหรับประเทศไทย นับว่ามีการตระหนักถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของ AI เห็นได้จากที่รัฐบาลประกาศแผนการพัฒนาโครงการริเริ่มใหม่ 6 โครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติในระยะที่ 2 โดยโครงการเหล่านี้มีมูลค่ารวม 42 ล้านดอลลาร์ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้าน AI และโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ (LLM)

‘ทักษะบุคลากร’ ปัญหาเรื้อรัง

แม้จะมีผลประโยชน์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่อุปสรรคสำคัญยังคงมีอยู่สำหรับธุรกิจต่างๆ ในการปลดล็อกศักยภาพของ AI อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับ ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือ ช่องว่างด้านความสามารถ โดยระหว่างปี 2553 ถึง 2563 ภาคบริการดิจิทัลของประเทศไทยขยายตัว 37% แต่จำนวนพนักงานดิจิทัลเพิ่มขึ้นเพียง 26% 

การขาดแคลนความเชี่ยวชาญและชุดทักษะที่เกี่ยวข้องนี้ ส่งผลต่อการก้าวหน้าของนวัตกรรม ขัดขวางการพัฒนาและการใช้งานของ AI ที่มีประสิทธิภาพ และท้ายที่สุดทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงธุรกิจแบบองค์รวมช้าลง

นอกจากนี้ ธุรกิจยังอาจพบกับข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การไม่มีฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถในการปรับขนาดและประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน AI

ดังนั้น การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมศักยภาพของ AI อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมนวัตกรรม และการปลดล็อกผลประโยชน์ทางธุรกิจที่จับต้องได้

คำนึงถึง ‘มนุษย์’ เป็นศูนย์กลาง

บาฟย่า บอกว่า สิ่งสำคัญในการสร้างกลยุทธ์ AI ที่มีประสิทธิภาพคือ การตระหนักว่าประโยชน์ของกลยุทธ์นี้มีมากกว่าแค่ตัวชี้วัดที่ช่วยประหยัดเวลาเท่านั้น

โดย AI ควรถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่ช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานได้อย่างดีที่สุด ซึ่งทำให้พนักงานต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยการทำงานเก่าๆ และเรียนรู้วิธีทำงานร่วมกับ AI ในบทบาทของตนอีกครั้ง

ที่สำคัญ การลงทุนกับบุคลากรที่มีความสามารถเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จในยุค AI โดยกลยุทธ์ AI ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางจะมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับพื้นฐานของ AI ตลอดจนการสื่อสารและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือ AI

ด้วยการให้การสนับสนุนและการพัฒนาทักษะ ธุรกิจต่างๆ สามารถส่งเสริมให้พนักงานใช้ AI ได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการทดลองและนวัตกรรม แนวทางนี้จะทำให้ขับเคลื่อนมูลค่าทางธุรกิจจาก AI ที่สร้างได้เร็วกว่าคู่แข่ง

‘ข้อมูล’ เสาหลักความสำเร็จ

นอกจากความสามารถแล้ว ข้อมูลยังเป็นเสาหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับความสำเร็จของ AI การเริ่มใช้งาน การนำมาใช้ และการปรับขนาด AI อย่างมีประสิทธิผล ต้องอาศัยรากฐานข้อมูลที่มั่นคง ควบคู่ไปกับการทดสอบ การเรียนรู้ และการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มข้อมูลที่แข็งแกร่งสามารถทลายไซโลข้อมูลที่แยกกัน และรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ของธุรกิจเข้าด้วยกันได้ด้วยแหล่งข้อมูลเพียงแห่งเดียว

โดยข้อมูลเชิงลึกและผลลัพธ์จากเครื่องมือ AI จะกลายเป็นทรัพย์สินสำหรับพนักงานทุกคน ที่จะช่วยขยายมูลค่าให้กับลูกค้าและพันธมิตรในระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งนี้เองจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีแรงผลักดันที่จำเป็นในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงาน

รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกมูลค่าทางธุรกิจและเปิดรับนวัตกรรมต่างๆ ในอนาคต

กลยุทธ์ต้อง ‘ยืดหยุ่น - ชัดเจน’

ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจที่สำคัญจาก AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI เชิงสร้างสรรค์ ผู้นำธุรกิจจำนวนมากจึงเร่งดำเนินการการใช้ AI โดยไม่มีแผนระยะยาวหรือการวางรากฐานที่จำเป็น

แนวทางที่เร่งรีบนี้สามารถขัดขวางการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อความสามารถในการขยายขนาดการใช้งาน AI ในวงกว้างได้

ดังนั้น เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์ AI มีอนาคตที่ยั่งยืนและสามารถปรับตัวเข้ากับอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ ธุรกิจจำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งเพื่อทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก และปรับขนาดภายในกรอบงาน AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI)

เนื่องจาก การสร้างจุดยืนที่ชัดเจนไม่เพียงแต่จำเป็นเพื่อเป็นแนวทางในการเดินทางของความพร้อมและการนำ AI มาใช้เท่านั้น แต่ยังสำคัญเพื่อปลดล็อกมูลค่าเพิ่มเติมจากการลงทุนที่มีอยู่ในระบบคลาวด์ ข้อมูล และความปลอดภัย

สร้างสมดุล ‘AI - ความฉลาดของมนุษย์’

สำหรับธุรกิจในประเทศไทยที่เริ่มต้นการใช้ AI จะต้องพิจารณาว่า โครงสร้างองค์กรของตนได้รับการตั้งค่าอย่างไรเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI และวิธีที่พวกเขาสามารถบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจได้ดีที่สุด

โดยธุรกิจสามารถเริ่มต้นจากเล็กๆ ด้วยการระบุปัญหาทางธุรกิจแบบเฉพาะเจาะจงที่ AI สามารถช่วยสร้างมูลค่าให้ได้ทันที และปรับขนาดผ่านโปรแกรมนำร่องในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุม ก่อนที่จะดำเนินการไปสู่การใช้งานในวงกว้าง

“ธุรกิจในประเทศไทยที่มีการบูรณาการ AI เข้ากับการดำเนินงานหลักของบริษัท จะสามารถปลดล็อกโอกาสมากมายสำหรับการเติบโตที่รวดเร็วและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยกุญแจสู่ความสำเร็จอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่าง AI และความฉลาดของมนุษย์”

กลยุทธ์การสร้างโมเดลการดำเนินงานที่เน้น AI เป็นหลัก มีความคล่องตัวและปรับขนาดได้ จะช่วยให้ธุรกิจในประเทศไทยสามารถดึงมูลค่าสูงสุดจาก AI และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่พร้อมสำหรับนวัตกรรมและความก้าวหน้าที่ต่อเนื่อง