บางประเด็นว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเทคโนโลยีในบริบทยุโรป
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันระหว่าง กรอบคิดสิทธิมนุษยชน และ เทคโนโลยี คือการมีบทบาทต่อทุกย่างก้าวในชีวิตของเรา โดยสิทธิมนุษยชนสร้างหน้าที่แก่รัฐ ให้ต้องควบคุมการใช้เทคโนโลยี เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิต่างๆ
สิทธิเหล่านั้นมักเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในชื่อเสียง สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เป็นต้น
ศาลยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ศาลยุโรปฯ) เป็นศาลระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคพิจารณาคดีตามอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (อนุสัญญาฯ) เริ่มทำการมาตั้งแต่ปี 2502 และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลได้ ส่งผลให้มีคดีในประเด็นใหม่ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น จึงมีความสำคัญในเชิงการเปรียบเทียบการตีความและปรับใช้สิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ที่พัฒนาไปตามบริบทของสถานที่และเวลา คอลัมน์กฎหมาย 4.0 จะพาผู้อ่านไปสำรวจแนวทางการพิจารณาของศาลยุโรปฯ ในบางประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี
๐ ประเด็นว่าด้วยอินเทอร์เน็ต
“อินเทอร์เน็ต” เป็นประเด็นที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปิดกั้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในชื่อเสียง การเลือกปฏิบัติ ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม
ผู้เขียนจะกล่าวเฉพาะประเด็นว่าด้วย “สิทธิที่จะถูกลืม" (right to be forgotten) เท่านั้น เนื่องจากเมื่อข้อมูลของเราล่องลอยอยู่ในอินเทอร์เน็ต บุคคลจำนวนมากก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่ยากเย็นนัก
ทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ไม่พึงประสงค์จากเรื่องนี้ในระดับที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ สิทธิข้างต้นไม่ได้รับการรับรองโดยตรงในอนุสัญญาฯ (ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงเพียงไม่กี่ปี) โดยต้องถูกนำไปเชื่อมกับสิทธิอื่นๆ
คดีเหล่านี้มักเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก (ของผู้เผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต) และสิทธิต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบ คดีที่น่าสนใจในบริบทยุโรปมีอย่างน้อย 2 คดี ดังนี้
ใน Biancardi v. Italy (2564) ผู้ร้องที่เป็นอดีตบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ออนไลน์แห่งหนึ่ง ถูกศาลในประเทศพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีที่หนังสือพิมพ์ไม่ยอมลดระดับการเข้าถึงจากการค้นหา (de-indexing) ไปยังรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาจากเหตุการณ์การทะเลาะวิวาทในร้านอาหารแห่งหนึ่ง อันเป็นข้อมูลอ่อนไหวตามคำขอของเจ้าของร้าน
ศาลยุโรปฯ ไม่เห็นด้วยกับผู้ร้องที่ร้องว่า รัฐภาคีละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เนื่องจากรัฐมิได้ถึงขั้นสั่งให้ลบบทความดังกล่าวออกไป เพียงแต่ให้ปรับปรุงเรื่องการกำหนด “แท็ก” สำหรับการเข้าถึงเท่านั้น
ในทำนองเดียวกัน ใน Hurbain v. Belgium (2566) ศาลยุโรปฯ เห็นว่าไม่มีการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก จากกรณีที่ศาลในประเทศมีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์เป็นแบบ “ไม่ระบุชื่อ" (anonymous)
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวคือชื่อเต็มของผู้ก่ออุบัติเหตุจราจรรุนแรงเมื่อปี 2537 โดยศาลยุโรปฯ เห็นว่าการที่ข้อมูลนี้ถูกเผยแพร่ในลักษณะที่เข้าถึงได้ง่ายไร้ข้อจำกัด ส่งผลให้ข้อมูลอยู่ในระดับที่เกือบจะกลายเป็น “ประวัติอาชญากรรมเสมือนจริง" (virtual criminal record)
ในการมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลยุโรปฯ พิจารณาหลากหลายปัจจัยประกอบกัน อาทิ การที่เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นที่สนใจหรือมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ในขณะนั้น การที่ผู้ร้องไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง เป็นต้น
๐ ประเด็นว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดส่อง (surveillance)
การใช้เทคโนโลยีจับภาพใบหน้าและ/หรือการสอดส่องไม่ขัดหรือแย้งกับสิทธิตามอนุสัญญาฯ เสมอไป โดยต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น การกระทำดังกล่าวมีความจำเป็นหรือไม่ การกระทำที่ป้องกันไม่ให้เกิดหรือบุคคลที่ต้องควบคุมมีอันตรายต่อสังคมหรือไม่ เป็นต้น
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่รัฐกำหนดให้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการประกันสิทธิที่เพียงพอ มีแนวโน้มละเมิดสิทธิตามอนุสัญญาฯ
ใน Glukhin v. Russia (2566) ผู้ร้องเป็นนักเคลื่อนไหวตัวคนเดียวประท้วง ด้วยการเดินทางในรถไฟใต้ดินในเรื่องบทลงโทษที่นักกิจกรรมคนหนึ่งอาจได้รับจากการรณรงค์ต่อต้านอย่างสงบ พร้อมภาพจำลองขนาดเท่าตัวจริงของนักกิจกรรมคนดังกล่าว ซึ่งดึงดูดความสนใจของคนรอบข้าง และถูกระบุตัวตนและตำแหน่งที่ตั้งได้จนนำไปสู่การลงโทษทางปกครอง
ผู้ร้องได้ร้องว่าตนถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐจากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้จากการใช้ เทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้า และนำไปสู่การลงโทษดังกล่าว
ศาลยุโรปฯ พิพากษาว่า รัฐละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว ด้วยเหตุว่าความผิดที่ถูกพิพากษาจากการใช้ข้อมูลระบุตัวตนที่ได้จากเทคโนโลยีดังกล่าว ประกอบภาพและวิดีโอในอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงความผิดเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการกระทำในคดีอยู่ภายใต้หลักการประท้วงโดยสงบ
การดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักต่างๆ อาทิ ความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย (necessary in a democratic society) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในระบบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของยุโรป อีกทั้งยังละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกด้วย
คำพิพากษาในเรื่องการสอดส่องด้วยวิดีโอก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน กล่าวเฉพาะประเด็นที่เกิดในที่สาธารณะ แม้จะมีการสอดส่องในลักษณะดังกล่าว รัฐยังคงต้องเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัวอย่างเหมาะสมด้วย
ตัวอย่างเช่น ใน Antović and Mirković v. Montenegro (2560) ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกวิดีโอการบรรยายสาธารณะในมหาวิทยาลัยโดยมหาวิทยาลัยนั้น
ศาลภายในประเทศมองว่าเรื่องนี้ไม่มีประเด็นพิจารณาว่าด้วยสิทธิในความเป็นส่วนตัว ในขณะที่ผู้ร้องที่เป็นศาสตราจารย์ 2 คน เห็นว่ารัฐละเมิดสิทธิ แม้จะมีการออกกฎระเบียบมาแล้วแต่ตนไม่ได้ยินยอม มหาวิทยาลัยไม่มีเหตุผลเพียงพอในการกระทำดังกล่าว และตนไม่มีอำนาจควบคุมข้อมูลที่ถูกเก็บไป ทั้งนี้ ศาลยุโรปฯ เห็นว่ารัฐละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว
ประเด็นสำคัญ คือ ศาลยุโรปฯ เห็นแตกต่างจากศาลภายในประเทศ โดยมองว่าการทำกิจกรรมในวิชาชีพในลักษณะดังกล่าวมีมิติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในความเป็นส่วนตัวด้วย และเมื่อไม่มีเหตุผลเพียงพอให้จำกัดสิทธิ การกระทำดังกล่าวจึงละเมิดสิทธิของผู้ร้อง