OneWeb ยึดไทยฮับ CLMV ลุยบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม มั่นใจทำรายได้ 2,000 ล้านบาท

OneWeb ยึดไทยฮับ CLMV ลุยบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม มั่นใจทำรายได้ 2,000 ล้านบาท

OneWeb ประกาศเดินเครื่องให้บริการภายใต้แบรนด์ “Eutelsat Group” ยึดสถานีเกตเวย์ที่อุบลฯ เป็นฮับทำตลาดในภูมิภาค ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และ CLMV คาดกดสวิตซ์เปิดบริการก.ย.นี้ สร้างรายได้ระยะยาวเฉียด 2,000 ล้านบาท

นาเฮ อิทนานี รองประธานกรรมการระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก OneWeb กล่าวว่า ทันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ สำหรับโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำแก่บริษัท OneWeb ที่ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที

สำหรับเงื่อนไขที่บอร์ดกสทช.อนุมัติ

  • 1.อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียม OneWeb โดยมีระยะเวลา 5 ปี
  • 2.อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (satellite network capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของเอ็นที ที่จะสิ้นสุด 3 ส.ค. 2568 นี้
  • 3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี

โดย OneWeb จะให้บริการภายใต้แบรนด์ “Eutelsat Group” ปัจจุบันมีดาวเทียมประจำที่ (GEO) 35 ดวง และดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) 634 ดวง โดยให้การครอบคลุมพื้นที่ที่การเชื่อมต่อเข้าถึงยาก ทั้งในภาคพื้นดินที่ห่างไกล รวมถึงมหาสมุทรและท้องฟ้า จึงเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อให้กับเรือเดินทะเล เครื่องบิน และสถานที่ห่างไกล

เธอ เสริมว่า แนวทางการทำธุรกิจของ OneWeb จะไม่มองที่ One Size Fits All แต่เราจะพยายามนำเสนอโซลูชั่นนำสินค้าที่เรามีให้เหมาะกับแต่ละประเทศมากที่สุด และบริษัทรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับใบอนุญาตดาวเทียมต่างชาติในไทย นอกจากนี้ มองว่าสถานีเกตเวย์ที่จะเปิดให้บริการจะช่วยให้ไทยเสริมศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลได้ครบครันมากขึ้น และมั่นใจว่า OneWeb จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจประเทศไทยพลิกฟื้นได้ 

“เราเลือกใช้สถานีเกตเวย์ที่อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็นฮับในภูมิภาคเนื่องจากประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับวิถีวงโคจรของโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ จะทำให้เราสามารถให้บริการได้ในภูมิภาคอินโดจีน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน”

เธอ กล่าวว่า การทำตลาดของ OneWeb จะดำเนินธุรกิจผ่านพันธมิตรการจัดจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยในประเทศไทย OneWeb ได้ทำข้อตกลงในการให้บริการผ่านเอ็นที, บริษัท เนชั่นสเปซและเทคโนโลยี จำกัด Ltd (เอ็นแซท) และบริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี ซึ่งการทำในประเทศไทยและภูมิภาค โดยมีความจุประมาณ 5 gbps ทั่วประเทศไทยและภูมิภาค CLMV 

โดยสถานีเกตเวย์ที่สิรินธรนั้น คาดว่าจะก่อสร้างสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.หรือส.ค.นี้ จากนั้นใช้เวลา 1 เดือนในการทดสอบการเชื่อมต่อ และคาดว่าบริการเชิงพาณิชย์ครอบคลุมภูมิภาคจะพร้อมใช้งานภายในกรอบเวลาเดือนก.ย.นี้ ภายใต้กรอบการลงทุน 900 ล้านบาท

ซึ่งสถานีเกตเวย์จะทำให้ส่วนหนึ่งทำให้ไทยและมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ซึ่งสามารถตอบโจทย์สําหรับบริการในพื้นที่ห่างไกล และทุรกันดารที่โครงข่ายภาคพื้นดินเข้าไม่ถึงอีกทั้ง ยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารได้ทั้งในสถานการณ์ ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวว่ารายงานว่า การร่วมมือให้บริการโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ ร่วมกับ OneWeb นอกจากเป็นการดึงเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามายังประเทศไทยเพื่อยกระดับเศรษฐกิจมหาภาคแล้ว ยังเป็นโอกาสสร้างรายได้ใหม่ให้เอ็นทีในระยะยาว

โดยคาดการณ์รายได้รวมขั้นต่ำในระยะเวลา 10 ปี ประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งสามารถทําให้เอ็นทีมีรายได้ใหม่ทดแทนรายได้เดิมที่สูญเสียไปและจะช่วยให้มีรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต