คิกออฟบอร์ดเฉพาะกิจเข็นนโยบาย 'เนชั่นแนล คลาวด์' ดีอีรอชงเข้าครม.อนุมัติ

คิกออฟบอร์ดเฉพาะกิจเข็นนโยบาย 'เนชั่นแนล คลาวด์' ดีอีรอชงเข้าครม.อนุมัติ

บอร์ดดีอี เห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านเคลื่อน Cloud First Policy ผลักดันทุกภาคส่วนเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล หลังสภาพัฒน์ฯไฟเขียว ก่อนส่งเข้าที่ประชุมครม.อนุมัติต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดดีอี ครั้งที่ 2/2567 ได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก : Cloud First Policy เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก บริหารจัดการความต้องการใช้คลาวด์ (Demand) บริหารจัดการให้มีบริการคลาวด์อย่างเพียงพอ (Supply)

รวมทั้งสามารถปรับปรุงระบบนิเวศการใช้คลาวด์ และการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลผ่านความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ

ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแนวทางการพิจารณากลั่นกรองโครงการตาม เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ กรณีโครงการที่มีความจําเป็นต้องดําเนินการและมีแหล่งเงินรองรับที่ชัดเจนแล้ว และหากไม่ดําเนินการจะก่อให้เกิดความเสียหาย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า การดำเนินงานของคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) เป็นการสนับสนุนนโยบายการวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล

ทำให้ประชาชนสามารถรับการบริการจากรัฐได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (National Cloud)

โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะมีบทบาทในการกำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามหมวด 5 ภายในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการเฉพาะด้านแล้วรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลต่อไป

ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา บอร์ดดีอีได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย

  • 1. คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
  • 2. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
  • 3. คณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูล 
  • 4. คณะกรรมการเฉพาะด้านสุขภาพดิจิทัล 

ขณะที่นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ในส่วนของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย

1. (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ และจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

2. (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดนิยามและขอบเขตอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งจะมีการออกประกาศในลำดับถัดไป

3.การปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา 28 (1) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560

รวมถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยได้อนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนดีอี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพิ่มเติม จำนวน 1 โครงการ การเปิดรับข้อเสนอโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปี พ.ศ. 2567 ตามมาตรา 26 (1) และ (2) ทั้งนี้ มีคำขอรับทุนฯ ยื่นเข้ามา จำนวน 509 โครงการ รวมถึงอนุมัติโครงการ ตามมาตรา 26 (3) ของ สดช. จำนวน 3 โครงการ