ดีป้าเผย'ภูเก็ต'แชมป์เมืองอัจฉริยะไทย ดัชนีชี้วัดด้านแข่งขันสูง 83.60%
ดีป้าเผยรายงานดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 จาก 30 เมือง 23 จังหวัด ภูเก็ตได้ที่ 1 คิดคะแนนตามจังหวัดที่ 83.60% ส่วนวังจันทร์วัลเลย์คว้า 1 ด้าน City Base คะแนน 83.55%
สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า มีภารกิจในการจัดทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ แถลงรายงาน "ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี 2566 (Thailand Smart City Competitiveness Index (TSCCI) 2023) จาก 30 เมือง 23 จังหวัด"
โดยพิจารณาจาก 5 องค์ประกอบของแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และลักษณะของเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัล การพัฒนาระบบข้อมูลและ
ความปลอดภัย การบริการระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน และการระบุแนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ซึ่งดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) และการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based)
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันเมืองอัจฉริยะประเทศไทยวัดจากข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานตามแผนที่ได้รับจากผู้พัฒนาเมืองจนได้ออกมาซึ่งการพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรายงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้า
รวมถึงปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาเมือง สร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดการแข่งขันเชิงบวกระหว่างเมืองอัจฉริยะ โดยเปิดโอกาสให้เมืองได้นำเสนอแผนการจัดทำเมืองอัจฉริยะและวิธีการทำงานที่ดีขึ้น เพื่อสร้างความสำเร็จและเสริมสร้างชื่อเสียงในระดับท้องถิ่นและระดับสากล อีกทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งและส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
"รายงานดังกล่าวยังเป็นการสร้างระบบวัดและประเมินผลเพื่อให้ติดตามและปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้เมืองพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม แต่ยอมรับว่ามูลค่าเม็ดเงินและผลประเมินดัชนีไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เพราะมีบางโครงการชะลอตัวด้วยปัจจัยลบที่เราไม่สามารถควบคุมได้"
เขา กล่าวอีกว่า แนวทางการสนับสนุนการเชื่อมโยงและร่วมมือข้ามส่วนระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยถือเป็นกลไกสำคัญในการเร่งพัฒนา Mega Program พลิกโฉมประเทศไทย ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพและขยายเขตเมืองอัจฉริยะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ (City-based) ที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรกของปี 2566 ประกอบด้วย
- เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง 83.55%
- สามย่านสมาร์ทซิตี้ กรุงเทพมหานคร 79.02%
- คลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร 74.55%
ขณะที่เมืองอัจฉริยะตามจังหวัด (Province-based) ที่ได้รับคะแนนชี้วัดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ
- จังหวัดภูเก็ต 83.60%
- จังหวัดฉะเชิงเทรา 76.78%
- จังหวัดขอนแก่น 53.81%
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่ดำเนินโครงการได้ประสบผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายตามระบบเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) โดยยะลาเมืองอัจฉริยะ จังหวัดยะลา เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) โดยยะลาเมืองอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) โดยแม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ จังหวัดขอนแก่น การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โดยคลองผดุงกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) โดยสามย่านสมาร์ทซิตี้ กรุงเทพมหานคร และพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) โดยภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ แผนงานของดีป้าในปี 2567-2570 ตั้งใจจะขยายพื้นที่เมืองอัจฉริยะเป็น 105 เมืองใน 77 จังหวัด น่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจทั้งทางตรงและอ้อมได้มากกว่า 200,000 ล้านบาท
ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นไปที่ City Data Platform โดยนำข้อมูลที่ได้รับการจัดเก็บมาบริหารจัดการเมือง แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness)