แอปฟู้ดดิลิเวอรี ‘ไม่ง่าย’ ทุนไม่ถึง บริการไม่ครบ สายป่านไม่ยาว 'รอด' ยาก

แอปฟู้ดดิลิเวอรี ‘ไม่ง่าย’ ทุนไม่ถึง บริการไม่ครบ สายป่านไม่ยาว 'รอด' ยาก

ทั้งที่มีแฟนคลับจำนวนมาก ด้วยคอนเซปต์การก่อตั้งที่โดนใจใครหลายคน ได้ชื่อว่าเป็นแอปช่วยคนตัวเล็ก ไม่มีคิดค่าธรรมเนียม แต่สุดท้าย “โรบินฮู้ด” แอปฟู้ดดิลิเวอรีขวัญใจคนไทยของ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการ

ทั้งที่มีแฟนคลับจำนวนมาก ด้วยคอนเซปต์การก่อตั้งที่โดนใจใครหลายคน ได้ชื่อว่าเป็นแอปช่วยคนตัวเล็ก ไม่มีคิดค่าธรรมเนียม แต่สุดท้าย “โรบินฮู้ด” แอปฟู้ดดิลิเวอรีขวัญใจคนไทยภายใต้ร่มเงาใหญ่ของ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการไปเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางการแข่งขันในสมรภูมิแอปดิลิเวอรีที่ยังคงดุเดือด

“โรบินฮู้ด” อยู่ภายใต้ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCBx) มีผลประกอบการย้อนหลังตลอด 5 ปี ที่เริ่มดำเนินธุรกิจที่ “ขาดทุน” มาตลอด ปี 2563 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,335 ล้านบาท และ ปี 2565 ขาดทุนสูงถึง 1,986 ล้านบาท สุดท้ายปี 2566 ขาดทุนสูงสุดที่ 2,155 ล้านบาท

 

ขณะที่ บิ๊ก 4 ของแอปฟู้ดดิลิเวอรีในไทย ที่ประกอบด้วย แกร็บ ไลน์แมน โรบินฮู้ด และฟู้ดแพนด้า มีเพียง “แกร็บ” แอปฟู้ดสัญชาติสิงคโปร์ (คนก่อตั้งเป็นคนมาเลเซีย) ที่ทุนหนาสายป่านยาว เพียงรายเดียวที่ทำกำไร หลังจากทั้งหมดขาดทุนมาตลอด แกร็บเองก็เพิ่งมากำไรเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ประกาศแผนบุกตลาดในไทยอย่างเต็มที่ พัฒนาระบบหลังบ้าน ดึงร้านอาหารเด่นๆ เข้ามาเพิ่ม รวมถึงแตกบริการใหม่มากมายไม่ได้มีแค่สั่งอาหาร “แกร็บ” ดูเหมือนจะเป็นรายเดียวที่มีบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนไทยครบจบทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับ “ไลน์แมน” ที่ก่อนหน้านี้อยู่ในร่างของวงในมีเดีย ผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหารที่คนเล่นเน็ตคุ้นเคยเป็นอย่างดี หลังจากเข้าไปอยู่ในร่มของไลน์ ประเทศไทย ก็พัฒนาบริการใหม่ๆ ออกมามากมาย ดึงร้านอาหารดังๆ เข้ามาเป็นพันธมิตร ไม่ต่างจากแกร็บในแง่ของกลยุทธ์การทำตลาด แม้ว่าวันนี้ ไลน์แมน ยังคงขาดทุนอยู่ก็ตาม

การสั่งอาหารผ่านแอปในปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยม ซึ่งบูมอย่างสุดขีดในช่วงโควิด และจากนั้นก็กลายเป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนไทย แม้จะมีบางช่วงที่คนเริ่มหันมานิยมกินอาหารตามร้านเพิ่มมากขึ้น หลังผ่านยุคโควิดไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไลฟ์สไตล์การสั่งอาหารผ่านแอปกลายเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำวันของใครหลายคน ยิ่งแอปนั้นมีบริการที่นอกเหนือจากการสั่งอาหาร สามารถสั่งซื้อของ เรียกรถ ส่งของ และอื่นๆ ในแบบซูเปอร์แอปครบจบในที่เดียว สามารถดึงคนให้อยู่ในแอปได้ตลอด ย่อมกำชัยชนะเหนือกว่าคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดฟู้ด ดิลิเวอรีจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 รวมทั้งในปี 2567 มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือ ฟู้ดดิลิเวอรีน่าจะลดลงประมาณ 3.7% จากปี 2566 โดยเป็นผลจาก ความจำเป็นในการสั่งผ่านแอปลดลง เนื่องจากผู้บริโภคกลับไปรับประทานอาหารที่ร้าน ตามการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน และส่วนใหญ่ได้กลับมาทำงานเต็มสัปดาห์ตามปกติ แม้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการ ฟู้ดดิลิเวอรีเกือบทั้งหมด (94%) คิดว่ายังมีการใช้บริการฟู้ดดิลิเวอรี แต่ 48% ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะสั่งอาหารน้อยลง

อีกประเด็นคือ เรื่องราคาอาหารเฉลี่ยในแอป ที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อปริมาณการสั่ง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนสะสมที่สูงทำให้ร้านอาหารต้องปรับราคาขึ้นทั้งหน้าร้าน และในแอปที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ปัจจุบัน ต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันฟู้ด ดิลิเวอรีปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความยืดหยุ่นในการทำตลาดด้วยการลดค่า GP (ค่าเฉลี่ย GP จัดเก็บอยู่ที่ประมาณ 30%) และรวมถึงส่วนลดในค่าจัดส่งมีข้อจำกัด

แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางสั่งอาหารผ่านแอปยังคงมีความสำคัญ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากยังคงเลือกใช้บริการในจังหวะเวลาที่จำเป็นอย่างเวลาเร่งด่วน หรือต้องเวิร์ค ฟอร์ม โฮม หรือไม่อยากไปรอคิวหน้าร้านอาหารดังๆ เป็นต้น

แอปฟู้ดต้องสร้างสมดุลให้ดี

นายธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล หรือ นายอาร์ม ยูทูบเบอร์ กูรูด้านไอที (9arm) เคยวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำแอปฟู้ดดิลิเวอรีต้องสร้างสมดุลให้ดี เนื่องจากมีต้นทุนทั้ง ค่าอาหาร ค่าส่งสำหรับไรเดอร์ รวมถึงค่าบริการของแพลตฟอร์ม หากตั้งราคาแพงจนเกินไปมีโอกาสที่ยอดสั่งจะลดลง ลูกค้าหด ร้านค้าหาย ไรเดอร์ออกจากระบบ

“ฟู้ดดิลิเวอรีเป็นธุรกิจที่ยากมาก จำเป็นต้องอัดเงินทุ่มโปรโมชันเข้าไป ซึ่งเงินที่ลงไปโดยปกติจะมาจากนักลงทุนวีซีในสตาร์ตอัป หากไปได้ดีก็ทำเงิน แต่ถ้าเจ๊งก็จะไม่ได้อะไรเลยแบบไม่ได้มีข้อผูกมัดอะไร”

เขากล่าวว่า สตาร์ตอัปถูกทำมาเพื่อเผาเงิน เป็นการเอาเงินมาลงทุนกับไอเดียใหม่ๆ ถ้าไม่เวิร์กก็หายไปเลย ก็คือจบ บริษัทสตาร์ตอัปจึงต้องหาเงินมาลงทุนเรื่อยๆ เพื่อเลี้ยงตัวเองให้รอด เติบโต และรอเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเฟสต่อๆ ไป

สำหรับกรณีของแอปฟู้ดดิลิเวอรีคือ การเอาเงินลงทุนมาทำการตลาด จัดโปรโมชันให้ส่วนลดค่าอาหาร ค่าจัดส่ง หมายความว่า ทุกๆ ครั้งที่มีออเดอร์บริษัทจะต้องเสียตังค์ “ขาดทุนทุกออเดอร์”

ดังนั้นเป็นเรื่องปกติที่ปีแรกๆ การทำธุรกิจจะเสียเงินไปแบบรัวๆ และจะค่อยๆ กลับมาทำเงินได้ในช่วงปีหลังๆ ทว่าจะไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา หากไม่สามารถเพิ่มฐานลูกค้าได้จำนวนมาก รายได้ก็จะไม่ได้เพิ่มมากนัก และคงไม่มีทางโตได้แบบก้าวกระโดด เนื่องจากคงไม่อาจไปแบ่งรายได้ส่วนที่มาจากร้านอาหารหรือคนขับได้มากนัก

หรือหากเลือกจะขึ้นราคาลูกค้าก็คงไม่ใช้ ลดค่าส่งไรเดอร์ก็ไม่อยากมาขับ แบ่งส่วนแบ่งจากร้านเพิ่มร้านค้าก็คงออก เป็นธุรกิจที่ต้องทำให้คน 3 กลุ่มคือ ลูกค้า ร้านอาหาร ไรเดอร์พอใจ ซึ่งวิธีการที่ทำได้คือ ลดค่าจีพี เพิ่มค่าส่ง หรือจัดโปรให้ลูกค้า แต่คำถามคือ จะต้องอัดฉีดเงินจนถึงเมื่อใด เพราะเมื่อเริ่มอัดฉีดน้อยลงของจะแพงขึ้นให้เห็นแบบทันทีจำต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใน 3 ปีนี้เป็นบทพิสูจน์ว่าธุรกิจจะไปรอดไหม และลูกค้าจะยอมจ่ายที่เท่าไร

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์