เมื่อ Gen-AI กลายเป็นเพื่อนร่วมงาน การปรับตัวสู่การทำงานแห่งอนาคต

เมื่อ Gen-AI กลายเป็นเพื่อนร่วมงาน การปรับตัวสู่การทำงานแห่งอนาคต

ยุคที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน เราจึงไม่ต้องถามอีกต่อไปว่าควรใช้ AI โดยเฉพาะ Generative AI (Gen-AI) อย่าง ChatGPT หรือ Gemini ในการทำงานดีหรือไม่ แต่ควรมองหาวิธีที่จะทำงานร่วมกับ Gen-AI อย่างกลมกลืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในยุคที่เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน เราจึงไม่ต้องถามอีกต่อไปว่าควรใช้ AI โดยเฉพาะ Generative AI (Gen-AI) อย่าง ChatGPT หรือ Gemini ในการทำงานดีหรือไม่ แต่ควรมองหาวิธีที่จะทำงานร่วมกับ Gen-AI อย่างกลมกลืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งการมอง Gen-AI เป็นเพียงเครื่องมือนั้นอาจเป็นมุมมองที่คับแคบเกินไป

แท้จริงแล้ว Gen-AI สามารถเป็นได้มากกว่านั้น ต้องมองเขาเป็นเสมือนเพื่อนร่วมงานที่มีความสามารถหลากหลายและพร้อมช่วยเหลือเราตลอดเวลา และที่สำคัญยิ่งต้องมองเขาแตกต่างจากการค้นหาด้วย Google เพราะเขาไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อทำหน้าที่แบบนั้น แต่สิ่งที่เขาเก่งคือการสร้างเนื้อหา การคำนวณ หรือการคิดสร้างสรรค์ในบางอย่าง

ผมทำงานอยู่กับ Gen-AI ตลอดเวลา เหมือนที่ผมต้องทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือต้องมีอินเทอร์เน็ตช่วยในการทำงาน ผมไม่ได้มองว่า จะใช้ Gen-AI ในการทำงานอย่างไร แต่ผมคิดว่าเขาคือคนที่ทำงานคู่กันกับผม และโต้ตอบกันอยู่ตลอดเวลา แถมงานบางอย่างผมแบ่งให้เขาทำได้อย่างชัดเจน แล้วค่อยนำผลลัพธ์จากงานที่เขาทำมาทำต่อ เช่น การสรุปเอกสารต่างๆ

ทุกวันนี้ผมมีผู้ช่วยที่เป็น Gen-AI อยู่สามคน คือ ChatGPT Plus, Gemini Advanced และ Claude 3 (ขออนุญาตใช้สรรพนามว่าเป็นคน เพราะผมคิดว่าเขาคือเพื่อนร่วมงาน) ที่ต้องใช้ผู้ช่วยถึงสามคน ก็เนื่องจากแต่ละคนมีจุดแข็งและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน แต่ละคนอาจมีมุมมองที่ต่างกัน เปรียบเสมือนการมีทีมงานที่หลากหลายความสามารถ

ผมมีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้กับผู้ช่วยทั้งสามคน แต่ละคนรับเงินเดือนจากผมประมาณ 700-800 บาท แต่ความสามารถพวกเขาเหนือกว่าคนทำงานที่จบมาใหม่ๆ หรือในบางเรื่องเก่งกว่าคนที่มีทักษะสูงด้วยซ้ำ จึงถือว่าคุ้มค่ามาก และข้อสำคัญยิ่งพวกเขาทั้งสามพร้อมที่จะทำงานกับผมอยู่ตลอดเวลา

แต่เราก็ต้องเข้าใจก่อนว่า Gen-AI ไม่ได้ทำงานที่เก่งสุดและอาจไม่ได้ให้คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป ผู้ใช้ยังคงต้องใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบและปรับแต่งผลลัพธ์ สิ่งที่เขาเก่งคือถามไอเดีย สรุปเอกสาร หรือข้อมูลที่เราแนะนำให้อยู่แล้ว สุดท้ายคำตอบอยู่ในระดับพอใช้ เราเองก็คงต้องมาวิเคราะห์พิจารณาต่อเอง ผมเองให้คะแนนความสามารถของผู้ช่วยของผมทั้งสามคนอยู่ระดับเกรด C ที่อาจไม่ใช่บัณทิตที่ได้คะแนนสูงสุดในห้อง แต่ก็ถือว่าทำงานได้ดีทีเดียว

 

หลายคนอาจกังวลว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเขียน Prompt เพื่อสื่อสารกับ Gen-AI แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องซับซ้อนขนาดนั้น การสื่อสารกับ Gen-AI ควรเป็นไปอย่างธรรมชาติ เหมือนการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน บางครั้งอาจต้องถามโต้ตอบไปมาจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจ แบ่งงานบางอย่างที่เขาถนัดให้ทำ ที่สำคัญ Prompt ที่ดีคือการรู้จักตั้งคำถาม และบางครั้งก็อาจต้องถามโต้ตอบกับเขาไปจนเราพอใจ

Gen-AI สามารถช่วยได้หลากหลายงาน ตั้งแต่งานพื้นฐานไปจนถึงงานที่ซับซ้อน เช่น การสรุปข้อมูลจากวิดีโอและบทความ การแปลภาษา การทำ OCR เพื่อแปลงข้อความในรูปภาพให้เป็นตัวอักษร และการให้แนวคิดในการทำงาน

ตัวอย่างเช่น ผมทำสไลด์ร่วม 100 หน้ากับ Gen-AI โดยที่ผมรวบรวมข้อมูลมาเอง ทั้งอ่านบทความ ดูวิดีโอ มาก่อน แล้วผมก็แบ่งงานให้ Gen-AI ทำงานต่างๆ เช่น เขียนสรุปเนื้อหาจากบทความหรือวิดีโอ ให้จัดระเบียบเอกสารใส่สไลด์ให้ แปลเอกสารจากที่ต่างๆ ให้ และสรุปย่อลงมา ทำ OCR เอกสารเพื่อแปลงข้อความในรูปให้เป็นข้อความ ให้แนวคิดว่าควรมีหัวข้อหรือโครงร่างอะไร และให้คำแนะนำต่างๆ ในเบื้องต้น รวมถึงช่วยวาดรูปภาพที่สรุปมาจากเอกสาร ซึ่งพอเอา Gen-AI มาช่วยก็ทำให้งานที่ผมควรใช้เวลาเป็นสัปดาห์เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง

หรือแม้แต่การเขียนบทความนี้ ผมก็ใช้ Gen-AI โดยเฉพาะ Claude 3.5 มาช่วยผมเขียนในขั้นตอนเริ่มต้น จากข้อมูลต่างๆ ที่ผมรวบรวมมา หลังจากนั้นงานส่วนใหญ่ผมก็ยังเขียนและปรับแต่งเองต่อ แล้วก็ค่อยให้ Gen-AI ตรวจสอบคำผิดและความถูกต้องต่างๆ อีกครั้ง ก่อนจะถามไอเดียจากเขาว่าควรตั้งชื่อบทความอย่างไร แล้วก็เป็นคนสรุปเองว่าจะใช้ชื่ออะไร แล้วจึงส่งต้นฉบับนี้ออกไป

เราพร้อมที่จะเป็นคนพันธุ์ใหม่ที่ทำงานร่วมกับ Gen-AI หรือยัง ถ้ายังไม่เริ่ม ควรเริ่มทำ ณ ตอนนี้ ก่อนที่จะตกขบวนแล้วไม่สามารถที่จะแข่งขันได้ กับคนที่นำ Gen-AI มาทำงานร่วมกัน ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมลองใช้ Gen-AI ทำงาน ผมรู้สึกทึ่งมากกับความสามารถของมัน และตั้งแต่นั้นมา ผมก็ไม่เคยหยุดเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีนี้

การทำงานร่วมกับ Gen-AI ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น ผู้ที่สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก Gen-AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางวิชาชีพ การเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ลองเริ่มจากการใช้ AI ในงานเล็กๆ เช่น การสรุปข้อมูล หรือการระดมความคิด แล้วค่อยๆ ขยายขอบเขตการใช้งานไปสู่งานที่ซับซ้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานยังมีคนบางกลุ่มที่ยังคง “ปฏิเสธการใช้เอไอ” และหลายคนก็ยังคิดว่าตัวเองทำงานได้ดีพอควรโดยไม่ต้องพึ่งเอไอ แต่ถ้าเรามองไปข้างหน้า เราจะเห็นว่าการทำงานร่วมกับ AI จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคตอันใกล้ ส่วนใหญ่จะไม่บอกเหตุผลว่าทำไมจึงไม่อยากใช้ AI จะว่าไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีก็ไม่น่าใช่ เพราะแม้แต่ผู้สูงอายุหลายคนก็สามารถใช้ AI ช่วยงานได้ หากกลัวว่า AI จะแย่งงานก็ยิ่งแปลก เพราะการใช้ AI ช่วยงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่าการทำงานด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ Gen-AI ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ แต่มาเสริมศักยภาพการทำงานของเรา การมองว่า Gen-AI เป็นเพื่อนร่วมงานจะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมชาติ การทำงานร่วมกับ AI ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองและงานของเราให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เริ่มต้นจากการลองใช้ AI ในงานเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เรียนรู้และปรับตัว ไม่แน่ว่าในอนาคต AI อาจกลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีที่สุดของคุณก็ได้