ยุคแห่ง AI ‘มนุษย์ - เทคโนโลยี’ ต้องพัฒนาไปควบคู่กัน

ยุคแห่ง AI ‘มนุษย์ - เทคโนโลยี’ ต้องพัฒนาไปควบคู่กัน

"เซลส์ฟอร์ซ" เจาะแนวคิดการใช้ AI สร้างประโยชน์อย่างสมดุล เปิดแนวทางสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้มนุษย์ยังคงเป็นผู้นำในการใช้ AI 

KEY

POINTS

  • AI ที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ ต้องมีมนุษย์เป็นผู้ควบคุมและกำหนดทิศทาง
  • ชาวไทยถึง 77% แสดงความกังวลต่อการที่บริษัทยังไม่มีนโยบายที่กำหนดแนวทางด้านการใช้ AI
  • การผสมผสานระหว่าง AI และมนุษย์อย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร 

รบส สุวรรณมาศ ผู้นำด้านนวัตกรรม เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย เปิดมุมมองว่า การนำผู้ช่วย AI หรือ “AI Assistant” ที่สามารถตอบคำถาม สร้างคอนเทนต์ และทำงานต่างๆ ได้แบบอัตโนมัติมาใช้ในปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ในการที่ AI จะทำให้ธุรกิจของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เทคโนโลยี AI ก้าวหน้าไปอีกขั้น ก็มักจะมีข้อกังวลด้านจริยธรรมตามมาด้วยเสมอ บางครั้งเราอาจไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไม AI ถึงทำในสิ่งที่มันทำ หรือกำจัดความไม่ถูกต้อง (Inaccuracy) ความเป็นพิษ (Toxicity) หรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อน (Misinformation) ออกไปได้ทั้งหมด

หากเป็นเพียงแค่ AI แนะนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม อาจถือว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรงมากนัก แต่หากเป็นกรณีที่ AI ดำเนินการผิดพลาดในประเด็นสำคัญที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเงินส่วนบุคคล หรือข้อมูลทางการแพทย์ ย่อมทำให้เกิดความกังวลอย่างมากแน่นอน

เดินหน้ายุทธศาสตร์ 'AI แห่งชาติ'

ผลการศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดย YouGov ในปีที่ผ่านมา พบว่า พนักงานชาวไทยจำนวนมากต่างเห็นประโยชน์ของ AI

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและการฝึกอบรม เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้ AI นั้นเป็นไปอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ

โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยถึง 77% แสดงความกังวลต่อการที่บริษัทของตนเองยังไม่มีนโยบายที่กำหนดแนวทางด้านการใช้ AI

ได้เห็นแล้วว่าได้เกิดอะไรขึ้นเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ผู้คนอาจสูญเสียโอกาสหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สถานการณ์เดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับ AI เช่นกัน ซึ่งเป็นความจริงที่เกี่ยวข้องกับองค์กรไทยทุกแห่งไม่ว่าจะอยู่ในระดับสถานะใดของการนำ AI มาใช้ หรือมีความก้าวหน้าทาง AI ในองค์กรเพียงใด

น่าสังเกตว่าจากรายงาน State of AI Readiness ของ เซลส์ฟอร์ซ พบว่า ประเทศไทยสามารถยกระดับความพร้อมด้าน AI ในปี 2566 ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจเมื่อเทียบกับปี 2564 และเป็นอันดับ 9 จากทั้งหมด 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ทำการประเมิน แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมุ่งมั่นพัฒนา AI อย่างต่อเนื่อง และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในแผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ

เสริมพลังให้ “คน” ควบคุม AI

เนื่องจาก AI มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องคิดหาวิธีที่จะนำพลังแห่งนวัตกรรมของ AI มาใช้อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องให้มนุษย์เป็นผู้นำในการกำกับดูแลการทำงานของ AI

โดยสามารถออกแบบฟีเจอร์ที่ทรงพลัง มีความน่าเชื่อถือ และทำงานครอบคลุมทั้งระบบเพื่อให้เทคโนโลยีมุ่งเน้นไปยังจุดที่ต้องใช้การตัดสินใจอย่างรอบคอบและต้องการความสนใจมากที่สุด

AI ควรได้รับการออกแบบให้มีมนุษย์เป็นผู้นำ เสริมพลังให้ “คน” สามารถควบคุม AI และให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจของมนุษย์เป็นลำดับแรก นั่นหมายถึงการออกแบบระบบ AI ที่สามารถใช้ประโยชน์อันสูงสุดจากการผสมผสานความชาญฉลาดของทั้งมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน

การมอบหมายให้ AI ตรวจสอบและสรุปข้อมูลลูกค้าหลายล้านราย จะช่วยปลดล็อคศักยภาพและประสิทธิภาพที่น่าทึ่งให้กับองค์กร และด้วยการให้มนุษย์เข้ามามีส่วนร่วมและใช้วิจารณญาณในสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ จึงจะสามารถสร้างความไว้วางใจในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างแท้จริง

‘3 แนวทาง’ ช่วยมนุษย์เป็นผู้นำ

สำหรับ แนวทางสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้มนุษย์ยังคงเป็นผู้นำในการใช้ AI ประกอบด้วย 1. การสร้างคำสั่งหรือพรอมพท์ (Prompt) ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการทำงานอัตโนมัติอย่างแท้จริง: พรอมพท์ที่ส่งไปยังโมเดล generative AI นั้นมีอิทธิพลอย่างมากและมีศักยภาพในการกำหนดทิศทางของผลลัพธ์ได้หลากหลายล้านรูปแบบ

รวมถึงสามารถคาดเดาผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาใกล้เคียงกับเวลาจริงนั้น จะช่วยให้องค์กรมั่นใจว่าจะได้รับผลลัพธ์จากการใช้ AI ตรงตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้สามารถปรับแต่งและแก้ไขพรอมพท์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประโยชน์ แม่นยำ และเกี่ยวข้องกับบริบทมากยิ่งขึ้น

2. เส้นทางการตรวจสอบ (Audit Trails) สามารถช่วยค้นหาสิ่งที่เรามองข้ามไป: การมี Audit Trails ที่ละเอียดและครบถ้วน จะช่วยให้ลูกค้าสามารถประเมินประวัติการทำงานของ AI ได้อย่างถูกต้องและระบุได้ว่าจุดใดที่ผู้ช่วย AI ทำงานได้อย่างถูกต้องหรือผิดพลาด

นอกจากนี้ Audit Trails ยังสามารถช่วยระบุปัญหาในชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มนุษย์อาจมองข้ามไป มันจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเสริมสร้างความสามารถในการใช้วิจารณญาณ เพื่อปรับการทำงานของ AI ให้สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร

3. การควบคุมข้อมูล (Data Control) ช่วยให้รักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น: การออกแบบระบบควบคุมดูแลที่แข็งแกร่งจะช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินการกับข้อมูลได้อย่างปลอดภัย ทำให้องค์กรสามารถนำข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบควบคุมข้อมูลต่างๆ เช่น การกำหนดสิทธิ์การใช้งาน การควบคุมการเข้าถึงข้อมูล การจำแนกประเภทข้อมูลด้วย Metadata Field จะช่วยเสริมสร้างความสามารถให้ทั้งมนุษย์และโมเดล AI รักษาความปลอดภัยและจัดการข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนได้ดียิ่งขึ้น

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้าน AI ที่กำลังเกิดขึ้นไม่เพียงเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างความสามารถของมนุษย์ต่อการควบคุมและใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ

เมื่อ AI และมนุษย์ร่วมมือกันพัฒนาและทำงานร่วมกัน จะสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถของ AI โดยที่มนุษย์สามารถทำในสิ่งที่เราถนัด ซึ่งคือการสร้างสรรค์ การใช้วิจารณญาณ และเชื่อมโยงกันได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น

การผสมผสานระหว่าง AI และมนุษย์อย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร ทำให้พนักงานได้ทำงานอย่างเต็มศักยภาพ และท้ายที่สุดคือทำให้ AI น่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น