‘ไอบีเอ็ม’ เผยความสำเร็จใช้ AI ในงาน HR เน้นพัฒนาคนควบคู่เทคโนโลยี

‘ไอบีเอ็ม’ เผยความสำเร็จใช้ AI ในงาน HR เน้นพัฒนาคนควบคู่เทคโนโลยี

เจาะมุมมอง ‘อโณทัย เวทยากร’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม นำ Generative AI และออโตเมชันปฏิวัติงาน HR เผย ลดต้นทุนลงได้ถึง 40% เพิ่มผลิตภาพ 1.6 พันล้านดอลลาร์

ไอบีเอ็ม (IBM) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก เปิดเผยความสำเร็จในการนำ Generative AI และออโตเมชันมาใช้ในงานด้านทรัพยากรบุคคล (HR) โดยสามารถลดต้นทุนงานปฏิบัติการด้าน HR ลงได้ถึง 40% และยังประกาศว่าปี 2567 เป็น “ปีแห่ง AI สำหรับ HR สู่การใช้งานจริง” โดยเน้นย้ำถึงการนำเอไอมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานอย่างครอบคลุม

อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางกรุงเทพธุรกิจ ได้อ้างอิงผลการศึกษาจากสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) เผยถึงการเตรียมความพร้อมของซีอีโอทั่วโลก พบว่า ครึ่งหนึ่งของซีอีโอไทยกำลังเปิดรับสมัครตำแหน่งงานเกี่ยวกับ Generative AI ขณะที่ 42% เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรภายใน 12 เดือน และ 39% เห็นว่าพนักงานจะต้องพัฒนาทักษะใหม่ (Upskill - Reskill) ภายใน 3 ปี

การศึกษาสะท้อนอีกว่า องค์กรจำเป็นต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ปรับโครงสร้างองค์กร และยังต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนกลยุทธ์ด้าน HR ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค AI

AskHR ผู้ช่วยดิจิทัล

ไอบีเอ็มได้นำ AskHR ผู้ช่วยดิจิทัลมาใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโซลูชันจาก IBM Watsonx โดยสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับ HR ได้ถึง 94% และลดเวลาในการทำงานลงถึง 75% พนักงานสามารถทุ่มเทเวลาให้กับงานที่สำคัญมากขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมขององค์กร การรันทุกอย่างบนคลาวด์ช่วยเพิ่มผลิตภาพให้กับไอบีเอ็มได้ถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์

“มองว่า HR ที่เป็นมนุษย์ยังต้องมีอยู่ แต่จะได้โยกย้ายไปทำงานที่มีคุณค่า (value) มากขึ้น เช่น การมองหา talent เก่งๆ เข้ามาทำงานภายในบริษัท ส่วนงานด้านตอบคำถาม การเทรนด์พนักงานใหม่ ก็ให้เอไอจัดการแทน ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระงานที่ซ้ำซ้อนแก่ HR

โดย AskHR เป็นผู้ช่วยที่ทางไอบีเอ็มมอบให้แก่พนักงาน เป็นเครื่องมือที่หากต้องการรู้อะไรเกี่ยวกับงานด้านนี้ พนักงานไม่จำเป็นต้องออกจากหน้าจอเพื่อไปค้นหาจากแหล่งอื่น แต่สามารถอยู่ในหน้าจอเดียวจนจบงานได้” 

การนำเอไอมาใช้ในงาน HR ไม่เพียงส่งผลต่อองค์กรเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานในวงกว้าง ตามรายงานของ World Economic Forum คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 เทคโนโลยีอย่างเอไอจะสร้างงานใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง แต่ก็อาจทำให้งานเดิม 85 ล้านตำแหน่งหายไป ข้อมูลนี้ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการ upskill และ reskill ที่ไอบีเอ็มกล่าวถึง

อนาคตของเอไอในมุมมองของไอบีเอ็ม

“อีก 10 ข้างหน้า เมื่อองค์กรส่วนใหญ่ปรับธุรกิจมาใช้เอไอ ทำให้เขามีการจัดการต้นทุนที่ดีกว่า มีการเชื่อมงานที่เป็นออโตเมชันมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการประมาณการว่าปี 2030 มูลค่าตลาดเอไอจะมีเงินสะพัดถึง 16 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อองค์กรที่ไม่ได้ปรับตัวใช้เอไอ

ยกตัวอย่างลูกค้าของไอบีเอ็ม มีโรงพยาบาลเพิ่งจะ transform ระบบเวชระเบียนมาเป็นแบบดิจิทัล ซึ่งหากเทียบกับหลายองค์กรที่ยังใช้ระบบแมนนวลทั้งหมดมันก็ยากต่อการทำงาน หรือการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ในเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่องค์กรแต่ละองค์กรต้องวางยุทธศาสตร์การใช้เอไอ ไม่จำเป็นต้องเป็นงานด้าน HR อย่างเดียว อาจจะเป็นงานด้านอื่นๆ ด้วยก็ได้” 

ปรับ Mindset บุคลากร

คุณอโณทัย ย้ำอีกว่าความสำเร็จไม่ได้มาจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรควบคู่กันไป ซึ่ง Mindset ของบุคลากรที่มีต่อเอไอนั้นสำคัญมาก หากจะใช้เอไออาจต้องเปลี่ยนความคิดมองภาพแง่การนำไปใช้ประโยชน์มากกว่าอคติ

การนำเอไอมาใช้ในงาน HR ไม่ใช่เพียงแค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและการฝึกอบรมพนักงานอย่างต่อเนื่อง ไอบีเอ็มก็มี Workshop แก่พนักงานอยู่เสมอ เพื่อสร้างบรรยากาศของการทำงานที่เปิดการยอมรับเอไอ

“ปีนี้จะเป็นปีที่คอนเซ็ปต์ของเอไอเปลี่ยนไปสู่การใช้งานจริงมากขึ้น จากเดิมที่เป็นแค่ยูสเคสของการลดต้นทุน ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันได้เห็นยูสเคสใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก

ประเด็นสำคัญที่องค์กรต้องให้ความสนใจมากขึ้น คือ ความปลอดภัยของข้อมูล มุ่งเน้นการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ตลอดจนทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กร ไอบีเอ็มมีกฎห้ามพนักงานใช้เอไอที่เป็นสาธารณะ เพราะข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรหากโยนเข้าไปในแชตบอตเหล่านั้นทำให้รันขึ้นไปอยู่บนคลาวด์ 

ดังนั้น แพลตฟอร์ม Gen AI ขนาดเล็ก ที่ได้รับการฝึกสำหรับกลุ่มธุรกิจเฉพาะ และยูสเคสเฉพาะ จะเป็นสิ่งที่องค์กรมองหามากขึ้นในปีนี้ โดยองค์กรต้องสามารถปรับแต่งโมเดลเอไอให้ตอบโจทย์คุณค่าหลักของตนได้”

นอกจากนี้แล้ว ไอบีเอ็มยังให้ความสำคัญกับแนวคิด "Augmented Intelligence" ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเอไอน่าจะเป็นทิศทางที่องค์กรควรมุ่งเน้น โดยเอไอจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ แทนที่จะเข้ามาแทนที่ทั้งหมด

สรุปแล้ว ปี 2567 จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสำคัญของเอไอในองค์กร จากแนวคิดสู่การใช้งานจริง โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ความปลอดภัย และการปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กร ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว