15 ปีข้างหน้า ‘Gen AI’ ปลุกเศรษฐกิจเอเชียทะลุ 4.5 ล้านล้านดอลล์

15 ปีข้างหน้า ‘Gen AI’ ปลุกเศรษฐกิจเอเชียทะลุ  4.5 ล้านล้านดอลล์

‘เอคเซนเชอร์’ ประเมิน “เจเนอเรทีฟ เอไอ” ตัวเร่งธุรกิจต้องปรับตัวเร็วขึ้น คาดปลุกมูลค่าเศรษฐกิจเอเชียทะลุ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 15 ปีข้างหน้าหากใช้งานอย่างรับผิดชอบ มอง "ตลาดทุน ธนาคาร ประกัน ค้าปลีก" ถูกผลกระทบเอไอมากสุด แนะเร่งลงทุนเอไอพร้อมพัฒนาคน

KEY

POINTS

  • เอคเซนเชอร์ ชี้นำ Gen AI มาใช้อย่างรับผิดชอบ ปลุกมูลค่าเศรษฐกิจมากขึ้นถึงสองเท่า
  • คาดปลุกมูลค่าเศรษฐกิจเอเชียพุ่ง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์อีก 15 ปีข้างหน้าหากใช้อย่างรับผิดชอบ
  • เปิดสถิติ 96% ของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิก ตระหนักดี Gen AI จะส่งผลกระทบมีนัยสำคัญ
  • 89% ธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกมีแผนเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยี Gen AI ในปีนี้
  • "ตลาดทุน ธนาคาร ประกัน ค้าปลีก" ถูกผลกระทบเอไอมากสุด แนะเร่งลงทุนเอไอพร้อมพัฒนาคน

 

 

 

‘เอคเซนเชอร์’ ประเมิน “เจเนอเรทีฟ เอไอ” ตัวเร่งธุรกิจต้องปรับตัวเร็วขึ้น คาดปลุกมูลค่าเศรษฐกิจเอเชียทะลุ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในอีก 15 ปีข้างหน้าหากใช้งานอย่างรับผิดชอบ เปิดสถิติพบ 89% ธุรกิจในเอเชียมีแผนเพิ่มลงทุน เจนเอไอภายในปีนี้ ขณะที่ "ตลาดทุน ธนาคาร ประกัน ค้าปลีก" ถูกผลกระทบเอไอมากสุด แนะเร่งลงทุนเอไอพร้อมพัฒนาคน

เอคเซนเชอร์ เปิดงานวิจัยล่าสุด พบ Generative AI มีศักยภาพผลักดันมูลค่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้เพิ่มขึ้นได้อีก 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7% ต่อปีในช่วง 15 ปีข้างหน้าหากองค์กรเลือกนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ด้วยความรับผิดชอบในวงกว้าง และให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นหลัก

งานวิจัยของเอคเซนเชอร์ ชี้ว่า การนำ Gen AI มาใช้อย่างรับผิดชอบ จะช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจมากขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับการใช้ Gen AI โดยที่ไม่ได้ลงทุน หรือให้ความสำคัญกับบุคลากรและกระบวนการทำงานอย่างเหมาะสม

15 ปีข้างหน้า ‘Gen AI’ ปลุกเศรษฐกิจเอเชียทะลุ  4.5 ล้านล้านดอลล์

89% ธุรกิจเอเชียเพิ่มลงทุนเจนเอไอ

ข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่ 33% ของชั่วโมงทำงานในเอเชียแปซิฟิก จะเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติหรือให้ Generative AI ช่วยทำงานเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ จึงส่งผลกระทบต่อชั่วโมงทำงาน ซึ่งบุคลากรในออสเตรเลียและญี่ปุ่น จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประมาณ 45% และ 44% ตามลำดับ ตามมาด้วยจีน (33%) และอินเดีย (31%)

ขณะที่ 96% ของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิก ตระหนักดีว่า Gen AI จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง 91% ของคนทำงานในภูมิภาคนี้ ระบุว่า มีความพร้อมเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อทำงานร่วมกับ Gen AI อย่างไรก็ดี มีเพียง 4% ของผู้บริหารเท่านั้น ที่ได้เริ่มฝึกทักษะพนักงานในการทำงานร่วมกับ Gen AI อย่างเต็มพิกัด

อีกผลสำรวจที่ออกมาคล้ายกัน คือ 89% ธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกมีแผนเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยี Gen AI ในปีนี้ แต่ก็มีเพียง 35% ของธุรกิจเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างกำลังคน

ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ตลาดทุน เพราะ Gen AI จะส่งผลให้ชั่วโมงทำงานเปลี่ยนไปเกือบสามในสี่ (71%) ส่วนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม จะได้รับผลกระทบสองในสาม (66%) จากการที่ระบบทำงานได้โดยอัตโนมัติหรือให้เครื่องช่วยทำงาน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรองลงมาคือ ธนาคาร (64%) ประกัน (62%) และค้าปลีก (49%)

15 ปีข้างหน้า ‘Gen AI’ ปลุกเศรษฐกิจเอเชียทะลุ  4.5 ล้านล้านดอลล์

‘ไทย’ศักยภาพสูงดึงเอไอสร้างเติบโต

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า Generative AI เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องปรับตัวเร็วขึ้นในด้านการใช้ข้อมูลและ AI ซึ่งการจะใช้ประโยชน์จาก AI ให้เต็มศักยภาพฃผู้บริหารองค์กรต้องมองว่า AI เป็นได้มากกว่าเครื่องมือช่วยออกแบบกระบวนการทำงาน และบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ และมอง AI ในแง่โอกาสสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ผู้คน และสังคมโดยรวม

“ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีทรัพยากรบุคคลที่หลากหลาย และมีพลวัต จึงมีโอกาสสูงในการนำ AI มาใช้โดยยึดผู้คนเป็นศูนย์กลางและด้วยความรับผิดชอบ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน การที่เอคเซนเชอร์ลงทุนด้านบุคลากรและบูรณาการการใช้ Generative AI อย่างรับผิดชอบในกระบวนการทำงาน ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างระดับโลกของการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

นายวิเว็ก ลูทรา ผู้อำนวยการฝ่ายดาต้าและ AI ของ Accenture Growth Markets กล่าวว่า การนำ Generative AI ไปใช้ในวงกว้าง สามารถปรับโฉมระบบการทำงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมได้เกือบหมด กุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกไปสู่มูลค่าอีกมหาศาลขึ้นอยู่กับการพัฒนาทักษะ

"การจะใช้ Gen AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้ ผู้บริหารจะต้องโฟกัสไปไกลกว่าตัวงานและภารกิจที่ต้องทำ การใช้ Gen AI ควรมองไปในระยะยาว โฟกัสที่คน และต้องลงทุนใน Gen AI ไปพร้อมกับการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกัน องค์กรต้องลงทุนปรับเปลี่ยนระบบงาน โฟลว์การทำงาน และกำลังคน ให้พวกเขาสามารถปรับวิธีการทำงานและประสบความสำเร็จในยุค AI ได้”

15 ปีข้างหน้า ‘Gen AI’ ปลุกเศรษฐกิจเอเชียทะลุ  4.5 ล้านล้านดอลล์

แนะธุรกิจเร่งปรับกระบวนท่า

ทั้งนี้ เอคเซนเชอร์ แนะธุรกิจให้เร่งปรับกระบวนท่าเพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพของ Gen AI ได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น มีบทบาทนำและเรียนรู้แนวทางใหม่ๆ ซึ่งการนำองค์กรสู่อนาคตด้วย Gen AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับความเชื่อมั่นและไว้ใจ ผู้บริหารต้องมีส่วนร่วมและมีบทบาทเป็นผู้นำที่ต่างจากเดิม ท้าทายมุมมองเดิมๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่สำคัญ คือ ผู้นำต้องซึมซับกับเทคโนโลยี และทำให้การเรียนรู้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน

ขณะเดียวกัน ควรเร่งปรับโฉมวิธีทำงาน เมื่อผู้บริหารคิดใหม่ทำใหม่กับกระบวนการทำงานทั้งระบบ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า Gen AI จะเข้าไปมีบทบาทสำคัญที่สุดได้ที่ตรงไหน ถึงจะสอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ ยกระดับประสิทธิภาพและผลักดันนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร รวมถึงปรับการทำงานที่เป็นแบบเดียวเหมือนกันหมด ให้เป็นแนวทางใหม่ที่มีความหมายและยั่งยืนมากกว่าเดิม เมื่อทำจุดนี้สำเร็จได้ ผู้บริหารจะสามารถปรับโฟกัสและปรับการทำงาน ให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น สนับสนุนบุคลากรมากขึ้น และนำองค์กรให้สำเร็จได้ตามเป้า

อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การปรับทัพกำลังคน โดยการเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ต้องมีบุคลากรที่มีพลังและยืดหยุ่นสูงด้วย องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการปรับทัพทาเลนต์ผู้มีความสามารถต่อเนื่อง ยิ่งใช้เทคโนโลยีมากขึ้น องค์กรก็ต้องใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและเทคโนโลยีให้เต็มประสิทธิภาพ เช่น การจัดทักษะให้เข้ากับงาน (skill mapping) ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความราบรื่น จากหน้าที่งานที่มีบทบาทน้อย ไปสู่หน้าที่ที่มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งเมื่อปรับเปลี่ยนงานและหน้าที่แล้ว ประสิทธิภาพโดยรวมจะเพิ่มขึ้น องค์กรจะมีเวลาและมีทาเลนต์มาจัดการงานที่ให้มูลค่าสูงขึ้นได้

รวมถึงเรื่องเตรียมความพร้อมให้บุคลากร เมื่อองค์กรลงทุนช่วยให้บุคลากรเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นสำหรับสภาพตลาดในปัจจุบัน และมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทำงาน ก็ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับซอฟต์สกิลด้วย

นอกจากนี้ องค์กรอาจปรับใช้แนวทางการ “สอนเพื่อเรียนรู้” (teach-to-learn) เพื่อให้บุคลากรสามารถสอนหรือเทรนเครื่องมือทางเทคโนโลยีได้ แต่ระหว่างนั้น ผู้บริหารก็ต้องรับฟังและให้พนักงานมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้ใจระหว่างกัน