ไทยคมชู 'CarbonWatch' รายแรกในอาเซียน ปั้นธุรกิจนิว สเปซ หวังทำเงินในอนาคต

ไทยคมชู 'CarbonWatch' รายแรกในอาเซียน ปั้นธุรกิจนิว สเปซ หวังทำเงินในอนาคต

“ปฐมภพ” เดินเกมไทยคม ชูวิสัยทัศน์เปลี่ยนผู้นำดาวเทียม สู่ ผู้นำสเปซเทค ประเดิมความสำเร็จแพลตฟอร์ม ‘CarbonWatch’ เครื่องมือประเมินคาร์บอนเครดิต ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI รายแรกในอาเซียน

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยคม เปลี่ยนวิสัยทัศน์ จากผู้นำด้านดาวเทียม สู่ ผู้นำ นิว สเปซ เทค เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจนี้จะเป็นธุรกิจที่สำคัญและตอบโจทย์ ESG ล่าสุดไทยคมประสบความสำเร็จในการพัฒนา แพลตฟอร์ม CarbonWatch เครื่องมือในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในป่าไม้ ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียม และ AI โดยได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) รายแรกในประเทศไทย

โดยดำเนินการภายใต้โครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โดยได้จับมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว ช่วยทำให้การประเมินคาร์บอนเครดิต แม่นยำ รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และคุ้มค่ากว่าวิธีดั้งเดิม ที่ต้องใช้คนเดินเข้าไปจดค่าคาร์บอนเครดิตในป่า โดยเราคิดค่าบริการอยู่ที่ 100-300 บาทต่อไร่ ซึ่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ โดยลูกค้าหลักของเรามีทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิต และ บริษัทเอกชนที่มีการตื่นตัวเรื่อง Net Zero รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีผืนป่าจำนวนมาก

นายปฐมภพ บอกว่า ไทยคมเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดาวเทียมมาตลอด 30 ปี มีทั้งองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในกิจการอวกาศ แนวทางการทำตลาด การหาพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ดังนั้น ภาพของอนาคตตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ไทยคมต้องการขยายสโคปธุรกิจของตัวเอง จากเป็นผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คัมปานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้

โดยจะมุ่ง 3 ธุรกิจใหม่มาเสริมกับธุรกิจดาวเทียมหลักที่ให้บริการ
3 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย

1.บริการ Software defined Satellite ดาวเทียมที่สามารถควบคุมการทำงานได้เรียลไทม์จากภาคพื้นดิน เปลี่ยนองศาความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (footprint) เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ

2.รุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO หรือ Low Earth Orbit) เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) จาก สหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการสถานีภาคพื้นดินไทยคมในพื้นที่ลาดหลุมแก้ว

3.ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เช่น การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้า อนาไลติกส์จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งใน โครงการ CarbonWatch จะอยู่ในส่วนนี้

"ทั้ง 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็นนิว สเปซ เทค ปัจจุบันรายได้ยังไม่มีนัยยะสำคัญให้แก่บริษัทที่สร้างได้ราว 1-2% เท่านั้น แต่ใน 3 ปี เชื่อว่าจะเพิ่มไปถึง 20% ของรายได้รวมและจะเป็นอนาคตให้กับไทยคมเพราะตลาดนี้มีมูลค่ามหาศาล"

สำหรับภาพรวมของไทยคมครึ่งปีหลัง นายปฐมภพ กล่าวว่า ไทยคมยังอยู่ระหว่างการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ 3 ดวง เป็นดาวเทียมเล็ก 2 ดวง (ไทยคม 9 และ ไทยคม 9A) และดาวเทียมดวงใหญ่ (ไทยคม 10) ที่เป็นไปตามแผน ระหว่างนี้บริษัทหาลูกค้าดาวเทียมดวงใหม่

โดยสามารถให้ลูกค้าใหม่เข้ามาใช้งานดาวเทียมไอพีสตาร์ (ไทยคม 4) ไปก่อนจะโอนย้ายไปดาวเทียมดวงใหม่ โดยดาวเทียมไทยคม 9 ,9A จะยิงขึ้นสู่วงโคจรในปี 2568 และดาวเทียมไทยคม 10 ยิงในปี 2570 ทั้งนี้ ตลาดหลักเป็นไทย อินเดีย และยังมีประเทศในเอเชียแปซิฟิก และ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้าเดิม

ด้านม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ริเริ่ม “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 290,000 ไร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน และมีแผนที่จะขยายพื้นที่ไปยังป่าชุมชนทั่วประเทศไทย เทคโนโลยีในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถขยายโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนชุมชนต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ช่วยลดการเผาป่า สร้างรายได้ชุมชน แพลตฟอร์มของไทยคนนับเป็นเทคโนโลยีแรกในอาเซียนที่นำดาวเทียมมาใช้งาน

สำหรับราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยที่กรมสรรพสามิตรประกาศที่ 200 บาทต่อตันนั้น หากเทียบกับราคาที่เวที The World Economic Forum กำหนดไว้ที่ 85 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือว่าเป็นราคาที่บอกไม่ได้ว่าราคาไหนถูกต้อง เพราะมีการคาดการณ์ว่าการกำหนดราคาในอนาคตนั้นจะกำหนดตามการพัฒนาของประเทศ คือ ประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา และพัฒนาแล้ว

โดยเชื่อว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีราคาสูงกว่าเพราะประเทศพัฒนาแล้วย่อมมีการปล่อยคาร์บอนเครดิตสู่โลกมากกว่า ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่ประเด็นเพราะสิ่งสำคัญคือคนกลางที่ขายคาร์บอนเครดิตจะนำเงินคืนให้ชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน มีการกดราคาหรือไม่