แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ เปิดหลักสูตร ‘ปั้นนักพัฒนาเมือง‘ ดึงดีป้า-มศก. ร่วม
แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ (Dassault Systèmes) ผนึกกำลัง ดีป้า-ม.ศิลปากร เปิดสอนหลักสูตร ‘3DEXPERIENCE’ ปั้นนักพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นที่แรกในอาเซียน
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) กลายเป็นโซลูชันที่จะเข้ามาตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของประชากรโลก ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์
เช่น การนำทักษะด้านดิจิทัล ดาต้า (Data) ตลอดจนปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบนิเวศของเมือง โดยบุคลากรไทยยังขาดทักษะที่จำเป็นเหล่านี้อยู่มาก
ดังนั้น เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีและรองรับการขยายตัวของเมือง แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ (Dassault Systèmes) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงลงนามความร่วมมือพัฒนาโครงการเอื้อต่อเมืองอัจฉริยะ โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาครอบคลุมทั้งโครงการ 3 ปี นับจากนี้
โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 4 ระยะ เริ่มจาก
- การเปิดศูนย์ฝึกอบรม Industry Training Center ในเดือน ก.ย. สอนหลักสูตรการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหลักสูตรรับรองร่วมโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ดีป้า และแดสสอลท์ ซิสเต็มส์
- เปิดศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (Incubation Center) สำหรับการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงาน ธุรกิจ และสตาร์ตอัป
- เปิดศูนย์วิจัยด้านการวางผังเมืองและบริการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
- เปิดโชว์รูมดิจิทัลดึงดูดการลงทุน มุ่งผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะ เกิดการสร้างงาน และยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล
มุ่งผลิตบุคลากรในทักษะที่จำเป็น
รศ.ดร.สุชาดา พิริยะประสาธน์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพองค์กร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ด้วยการสนับสนุนของดีป้าและแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ มหาวิทยาลัยศิลปากรพร้อมเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับเมืองอัจฉริยะ
“ม.ศิลปากรจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองและการออกแบบสภาพแวดล้อมเพิ่มทักษะให้แก่บุคคลที่สนใจ โดยเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ จากทุกคณะ
รวมถึงบุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียนในหลักสูตร 3DEXPERIENCE Smart City Industrial Training Center และหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าพัฒนาบุคลากร Smart City มากกว่า 500 ราย ภายใน 3 ปีนับจากนี้
โดยเมื่อเข้ามาเรียนหลักสูตรความร่วมมือของทางมหาลัยฯ ดีป้า และแดสสอลท์เสร็จสิ้นแล้ว ก็จะได้รับประกาศนียบัตรจากศูนย์ฝึกอบรมฯ โดยสามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น นักวางผังเมือง ต่อไปในอนาคตได้”
นำเทคฯ 3D ตอบโจทย์การยกระดับเมือง
มร.แซมซัน เคา รองประธานบริหารประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ กล่าวว่า แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ คือบริษัท 3DEXPERIENCE ที่นำเสนอโลกเสมือนจริงให้แก่ผู้คนและองค์กรธุรกิจ เพื่อรองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน
โซลูชันของแดสสอลท์ ซิสเต็มส์จะปรับปรุงแนวทางการออกแบบ ผลิต และ สนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม ตอนนี้บริษัทฯ มีลูกค้าทุกระดับกว่า 300,000 รายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมกว่า 150 ประเทศ
แดสสอลท์ ซิสเต็มส์ จึงเชื่อมั่นว่าความพร้อม ประสบการณ์ และความรู้ทั้งหมด จะช่วยสามารถยกระดับทักษะดิจิทัลของบุคลากรในประเทศไทยสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้
“โครงการฯ มุ่งเน้นการใช้แพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE เป็นแกนหลัก ผสานรวมเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI, Internet of Everything (IoE) และ Virtual Twin หล่อหลอมบุคลากรที่มีทักษะให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ
ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ฝึกฝนการใช้เทคโนโลยี 3D เครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง และการออกแบบแบบเสมือนจริง รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะในอนาคต” มร.แซมซัน กล่าว
มร.แซมซัน ได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยี 3DEXPERIENCE แพลตฟอร์ม ของแดสสอลท์ ซิสเต็มส์ ที่นำมาใช้สร้างภาพจำลองเสมือนจริงของเมืองร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ เช่น การสร้างภาพจำลองของทุกสิ่งในเมือง ตั้งแต่เสาไฟ ถนน ไปจนถึงอาคารต่างๆ ภาพจำลองที่แม่นยำสามารถวิเคราะห์ทิศทางลม และเงาของอาคาร ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนเพื่อประหยัดพลังงานและสร้างความยั่งยืนให้กับเมือง
“แพลตฟอร์ม 3DEXPERIENCE เป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการวางแผนและพัฒนาเมือง ความสำเร็จของโครงการในสิงคโปร์นำไปสู่การขยายการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในเมืองอื่นๆ ซึ่งได้นำไปประยุกต์ใช้ในการวางผังเมือง รวมถึงเขตเมืองเก่าและจัดทำแผนแม่บทสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้
ทางบริษัทฯ เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการวางผังเมือง โดยต้องผสมผสานความรู้ด้านการสร้างแบบจำลอง การจำลองสถานการณ์ และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าด้วยกัน”
ดันไทยเป็นฮับ Smart City
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า ไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลอย่างรุนแรง โดยมีความต้องการมากกว่า 100,000 คนต่อปี
ขณะที่สถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรได้เพียงปีละ 30,000 คนเท่านั้น ช่องว่างนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
“ไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลรอบด้าน แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วยคือ Smart People ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยังขาดแคลนอยู่มาก แต่ก็มีโอกาสการพัฒนาอยู่มากเช่นกัน”
อย่างไรก็ดี ผอ.ดีป้า ชี้แจงโครงการที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันเมืองอัจฉริยะกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทาง
ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง ก่อนก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นฮับ Smart City ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป