Amity ปิดดีลระดมทุน 2.2 พันล้านบาท มุ่งสู่ ‘เอไอ แชมเปียน’ ของไทย

Amity ปิดดีลระดมทุน 2.2 พันล้านบาท มุ่งสู่ ‘เอไอ แชมเปียน’ ของไทย

Amity ประกาศความสำเร็จ ปิดดีลระดมทุนรอบซีรีส์ C มูลค่า 2.2 พันล้านบาท ปักธงเป็น “เอไอ แชมเปียน” ของไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ฮับการพัฒนา GenAI” ชั้นนำในระดับภูมิภาคและระดับโลก

อะมิตี้ โซลูชั่นส์ (Amity Solutions: ASOL) หนึ่งในผู้พัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative Artificial Intelligence: GenAI) ชั้นนำของไทย พร้อมด้วย อะมิตี้ คอร์ปอเรชั่น (Amity Corporation) บริษัทแม่ ประสบความสำเร็จในการระดมทุนรอบซีรีส์ ซี (Series C) ปิดดีลได้ที่ 60 ล้านดอลลาร์  (หรือประมาณ 2.2 พันล้านบาท) เพื่อก้าวสู่การเป็นหนึ่งในธุรกิจ GenAI ชั้นนำในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายมุ่งสู่บทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ฮับการพัฒนา GenAI”

การลงทุนครั้งสำคัญนี้จะเป็นเงินทุนที่ช่วยสนับสนุน ASOL ด้านปฏิบัติการวิจัย AI หรือที่เรียกว่า “เอไอ แล็บส์ (AI Labs)” ของ ASOL ซึ่งตั้งอยู่ในไทย

โดยมุ่งสร้างและพัฒนาแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GenAI นอกจากนี้ เงินทุนดังกล่าวยังจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทในการแข่งขันกับผู้เล่นในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศที่สามารถเสริมประโยชน์ให้กันและกัน

นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง ASOL กล่าวว่า การระดมทุนรอบนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของ ASOL รวมถึงอีโคซิสเท็ม AI ของประเทศไทย หวังว่า ASOL จะสามารถมีบทบาทในการช่วยให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับนวัตกรรม GenAI ระดับโลก วิสัยทัศน์ของเราคือการใช้ประโยชน์จากความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในระดับโลกด้วยเทคโนโลยี AI ที่ล้ำสมัย

ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2566 AI Labs ของ ASOL ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้บริการลูกค้าโดยตรง (end customer-facing software) ด้วย GenAI ตัวอย่างอันโดดเด่น

ได้แก่ อะมิตี้ บอตส์ พลัส (Amity Bots Plus) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับองค์กรที่มีแชตบอตเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ของ GenAI ส่งผลให้การให้บริการลูกค้าและผลกำไรดีขึ้น ภายในหนึ่งปีหลังจากเปิดตัวของ Amity Bots Plus ในเวอร์ชัน GenAI นั้น ไม่เพียงแต่มีการเติบโตของรายได้ประจำปี (annual recurring revenue: ARR) เพิ่มขึ้น 8 เท่า แต่ยังคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของ ARR ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้อีกด้วย

แม้ว่ารายได้ ผลกำไร และฐานลูกค้าของ ASOL จำนวนมากจะอยู่นอกประเทศไทย แต่โซลูชัน GenAI ของบริษัทก็ถูกนำไปใช้งานจริงกับธุรกิจชั้นนำของไทยหลายแห่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรู คอร์ปอเรชั่น (True Corporation) ปตท. (PTT) นกแอร์ (NokAir) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เป็นต้น

การระดมทุนในรอบนี้แบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

  • ASOL ระดมทุนได้ 41.6 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.52 พันล้านบาท) นำโดย Insight Capital พร้อมด้วยนักลงทุนใหม่ และนักลงทุนเดิมอีกหลายราย
  • Amity Corporation บริษัทแม่ ระดมทุนได้ 18.4 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 681.41 ล้านบาท) นำโดย SMDV ซึ่งเป็นนักลงทุนเดิม พร้อมด้วย Gobi Partners และนักลงทุนเดิมอีกหลายราย
  • การระดมทุนนี้รวมถึงการกู้ยืม ซึ่งนำและจัดโครงสร้างโดย AlteriQ Global บริษัทให้สินเชื่อเอกชน (Private Credit) ที่เน้นการดำเนินการในทวีปเอเชีย

ที่ผ่านมา ASOL ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในฐานะธุรกิจหนึ่งเดียวจากประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการกล่าวถึงโดย สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ สำหรับผลงานของ ASOL ที่บุกเบิกด้าน GenAI ณ งาน 'Microsoft Build 2024' ซึ่งเป็นงานประชุมนักพัฒนาระดับโลกของไมโครซอฟท์เมื่อไม่นานมานี้

เงินทุนจากนักลงทุนต่างประเทศจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับ ASOL ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ GenAI โดยเมื่อปี 2566 ASOL ได้แยกออกมาจากบริษัทแม่ Amity Corporation เพื่อเตรียมแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

นายเคง เถ็ก ก๋วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท หรือ กรุ๊ปซีอีโอ  ASOL กล่าวเสริมว่า ความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมอบให้เราสะท้อนถึงศักยภาพอันมหาศาลของ GenAI และในฐานะหนึ่งในผู้นำที่โดดเด่นด้าน GenAI ของ ASOL

บริษัทรู้สึกตื่นเต้นที่จะเข้ามาช่วยเร่งความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการขยายโซลูชัน AI เพื่อให้บริการธุรกิจในประเทศไทยรวมถึงที่อื่นๆ มากขึ้น

การลงทุนครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูง และใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งฐานะของบริษัทสู่ “เอไอ แชมเปียน (AI Champion)” ของประเทศไทย

ทั้งนี้ Vantage Capital Markets HK Limited ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ ASOL