ประธาน กสทช. ขีดฆ่ารายงานการประชุม หลัง 4 บอร์ดฟาด ขาดคุณสมบัติหรือไม่ ?
แฉเอกสารรายงานการประชุม มีการขีดฆ่าบันทึกรายงานการประชุม ถึงข้อห่วงใยต่อประเด็นขาดคุณสมบัติของประธานกสทช. หลัง 4กสทช.กังขาควรหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และขอให้บันทึกลงเป็นรายงานการประชุมเพื่อความถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วานนี้ (17 ก.ค.2567) พบบันทึกการประชุม กสทช. ครั้งที่ 12/2567 ในวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย.2567 มีการขีดฆ่าข้อความของ 4 กสทช. คือ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,นางสาวพิรงรอง รามสูต ,นายศุภัช ศุภชลาศัย และ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ในประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติของประธานกสทช.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ยกตัวอย่างข้อความดังนี้
กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ ขอเป็นกำลังใจให้ประธาน กสทช. และมีข้อห่วงใยตามที่คณะกรรมมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา แจ้งเอกสารข่าวผลการประชุมครั้งที่ 17/2567 วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ได้มีมติว่า ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณฯ ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
ซึ่งคณะกรรมาธิการจะได้นำกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายต่อไป โดยที่ผลของกฎหมายตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 20 ผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง พระบรมราชโองการดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ในกรณีนี้จะเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงานหรือไม่
ในประเด็นนี้ ประธาน กสทช. ชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุม และเป็นเรื่องของผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ จะคงทำหน้าที่ต่อไป
กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ มีข้อห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้ประธาน กสทช. เช่นกัน จึงขอสอบถาม กสทช. ต่อพงษ์ฯ ต่อกรณีนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช.ต่อพงษ์ฯ เคยเป็นที่ปรึกษา อดีต กสทช.สุภิญญาฯ ผู้ที่เคยเป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามและต้องพ้นจากตำแหน่งหลังมีพระบรมราชโองการฯ
และ อดีต กสทช.สุภิญญาฯ ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีโดยได้ขอลาออกเพื่อหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อมิให้มีการนำพระราชอำนาจไปใช้โดยมิชอบ และไม่ให้เกิดปัญหาต่อการประชุม กสทช. รวมทั้งปัญหาของสำนักงาน กสทช. กรณีเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ ทั้งของคุณสุภิญญาฯ และที่ปรึกษา ผู้ปฏิบัติงาน ในประเด็นนี้ กสทช. ต่อพงษ์ฯ ชี้แจงว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้น ไม่จำเป็นต้องถามก็ได้
ด้านกสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัชฯ มีข้อห่วงใยเช่นเดียวกันและต้องการให้ทุกคนปลอดภัยโดยไม่ต้องการให้เกิดปัญหาใดๆ อย่างไรก็ตามหากมีพระบรมราชโองการฯ มาภายหลัง จึงขอสอบถามความเห็นประเด็นทางด้านกฎหมาย ในกรณีที่ประธาน กสทช. ยังคงประชุมอยู่อาจจะมีผลกระทบต่อสาธารณะรวมถึงประโยชน์ได้เสียอันชอบธรรมแก่บุคคลใดๆ
ที่จะเกิดจากผลของมติที่ประชุมหรือการออกคำสั่งใช้อำนาจทางปกครองที่อาจเกิดปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งในประเด็นนี้ กสทช. พลตำรวจเอก ณัฐธรฯ แจ้งว่ายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้เนื่องจากไม่ได้ติดตามในเรื่องนี้
กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กสทช. พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัชฯ และ กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพฯ จึงขอให้บันทึกความเห็นดังกล่าวไว้ในการประชุมครั้งนี้ว่าพร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมและทำหน้าที่กรรมการ กสทช. อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาหรือการฟ้องร้องใดๆ เกิดขึ้นจากกรณีที่ประธาน กสทช. ยังคงทำหน้าที่ต่อไป
แม้วุฒิสภาได้มีความเห็นแล้วว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม โดยได้ตั้งข้อสังเกตแล้ว รวมทั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นไปตามมาตรา 20 วรรคหก แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่เมื่อมีเหตุตามวรรคหนึ่ง กล่าวคือ การขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม สำนักงาน กสทช. ต้องมีหนังสือแจ้งให้สำนักงานวุฒิสภาทราบ และขอรายละเอียดดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป