ดีอีหวด 'เอ็นที' จี้แผนบริหารองค์กร หั่นรองกจญ.ออก 3 คนตามแผนปรับโครงสร้าง

ดีอีหวด 'เอ็นที' จี้แผนบริหารองค์กร หั่นรองกจญ.ออก 3 คนตามแผนปรับโครงสร้าง

รัฐมนตรีดีอีรับหนักใจสถานะทางการเงินเอ็นที ส่อวิกฤติปี 68 หมดอานิสงส์สัมปทานมือถือหายวับ 30,000 ล้านบาท คลื่นความถี่ในมือต้องส่งคืนกสทช.ทุกย่าน จี้บอร์ดส่งแผนบริหารเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ลดเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดใหญ่ พบยังทำงานซ้ำซ้อนแม้ควบรวมทีโอทีมาแล้ว 3 ปี

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ในวันนี้ (26 ก.ค.) คณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที จะต้องส่งมอบแผนการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลให้คล่องตัวและเป็นไปตามบริบทการแข่งขันของตลาด

ซึ่งปัจจุบันเอ็นทีมีพนักงานทั้งสิ้น 12,600 คน แต่มีแผนจะลดจำนวนลงเหลือ 11,000 คนในเดือน ต.ค.2567 และตั้งเป้าให้ลดลงเหลือ 7,000 คน ภายในปี 2570 เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสม เพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานในอนาคต

นายประเสริฐ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลและเป็นห่วงคือเอ็นทีคือตำแหน่งของระดับบริหาร โดยเฉพาะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งแม้เอ็นทีจะดำเนินธุรกิจมาราว 3 ปี คือตั้งแต่ที่บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการมาตั้งแต่ 7 ม.ค. 2564 กลับไม่มีการปรับโครงสร้างองค์กรแต่อย่างใด โดยมีตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ถึง 13 คน และมีรักษาการอีก 3 คน ซึ่งไม่มีองค์กรใดทำกัน น่าแปลกที่ผ่านมา 3 ปี กลับยังไม่เห็นการบริหารงานทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นรูปธรรม 

“ทางบอร์ดบอกว่าวันที่จะเสนอแผนให้วันนี้ ตำแหน่งรองฯ ลงตัวแล้ว ซึ่งผมให้โจทย์ไปว่าควรจะเหลือแค่ 10+1 ไม่ใช่ 13+3 เหมือนที่ผ่านมา ก็ไม่อยากจะโทษใคร แต่ถ้าปล่อยไว้ก็จะยิ่งทำให้องค์กรไม่เดินหน้า ขณะนี้รายจ่ายเงินเดือนพนักงานคิดเป็นค่าใช้จ่าย 35% ซึ่งยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน“

รายงานข่าวคาดว่า บอร์ดจะเสนอปรับ โครงสร้างองค์กรโดยการเสนอชื่อให้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ 3 คนพ้นจากตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร เพราะรายชื่อ 3 คนดังกล่าวจะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้อยู่แล้วโดยประกอบด้วย นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช นางสาวจันทนา เตชะศิรินุกูล และนายพัฒนา ณ สงขลา

เปิดชื่อรองฯ-รักษาการยาวเหยียด 16 คน

1.นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน

 2.นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 1 

3.นายณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย 2

4.นายพีรศักดิ์ อรุณสกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตรวจสอบ

5.นายสุปรีดี สุวรรณทัต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกฎหมายและบริหารงานกลาง

6.นางสาวจันทนา เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี 

7.นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจลูกค้าองค์กร

8.นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดิจิทัล

9.นายสมยศ ธนพิรุณธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า 1

10.นายพัฒนา ณ สงขลา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า 3

11.นายสรพงษ์ ศิริพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานดาวเทียมและโครงข่าย

12.นายเสกสรรค์ มิตรเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์

13.นายสุรเชษฐ์ ศรีพลกรัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกลยุทธ์ และรักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ ICT และเทคโนโลยี

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่ รักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อีก 3 คน 

1.นายกรเอก แสงแก้ว 

2.นางสุวรรณยา ปิยพาณิชยกุล 

3.นายธีรยุทธ ศักดิ์วิลาสตระกูล

 

บัญชีรายได้ติดลบประเดิมปี 68

รัฐมนตรีดีอี ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2568 ซึ่งถึงตอนนี้ก็ใกล้เข้ามาแล้ว การดำเนินกิจการต่างๆ ของเอ็นที จะมีรายได้ส่วนหนึ่งที่ลดลงถึง 40,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่รายได้ จากสัญญาสัมปทานจากผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือจะสิ้นสุดลงประกอบกับคลื่นความถี่ในทุกๆด้านที่เอ็นทีถือของก็จำเป็นจะต้องส่งคืนให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช.

รายงานผลการดำเนินงานด้านการเงินตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ว่า มีรายได้รวมทั้งสิ้น 27,929.78 ล้านบาท รายจ่าย 25,672.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,257.31 ล้านบาท ดีกว่าแผนซึ่งประมาณการอยู่ที่ขาดทุน 1,023.97 ล้านบาท ส่วนประมาณการณ์ปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 87,983 ล้านบาท มีรายจ่ายอยู่ที่ 89,882 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะขาดทุนราวเกือบ 2,000 ล้านบาท

รออัยการสูงสุดดูสัญญาฉบับ3ของ“วันเว็บ”

รัฐมนตรีดีอี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีโครงการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำของวันเว็บ (OneWeb) ที่ทำสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับเอ็นทีโดยได้เลือกใช้สถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็น สถานีเชื่อมโยงโครงข่าย เพื่อทำตลาดในภูมิภาค CLMV นั้น ส่วนตัวมองว่าควรใหัสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นคนพิจารณาแม้ว่าตามจริงไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดแต่เมื่อเป็นการทำสัญญากับต่างชาติก็ควรจะมีหลังพิงเป็นฝ่ายกฎหมายมาช่วยพิจารณา 

ดังนั้น ในตัวสัญญาวันเว็บจะมี 3 สัญญา ซึ่งเอ็นทีลงนามไปแล้ว 2 สัญญาเหลือสัญญาสุดท้ายที่เกี่ยวกับผลตอบแทน 17% ที่รัฐจะได้รับก็เห็นว่า ผู้บริหารเอ็นทีควรดำเนินการให้ถูกต้อง