'เอ็นที' โต้กลับเน็ตเบย์ค่า NSW แจงยิบเป็นตามมาตรฐานสากล

'เอ็นที' โต้กลับเน็ตเบย์ค่า NSW แจงยิบเป็นตามมาตรฐานสากล

เอ็นที แจงคิดค่าบริการ NSW กับผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทุกรายด้วยมาตรฐานเดียวกันตามหลักเกณฑ์หน่วยงานกำกับดูแล ย้ำนำรายได้ไปพัฒนาบริการตามมาตรฐานสากลตอบโจทย์การแลกเปลี่ยนข้อมูลทุกภาคส่วน

พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยเกี่ยวกับกรณีที่บริษัท เน็ตเบย์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเรื่องการคิดค่าบริการ National Single Window หรือ NSW ว่าบริการ NSW เป็นบริการแลกเปลี่ยนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ระบบ NSW เริ่มให้บริการโดยกรมศุลกากร มาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่จะมอบให้ เอ็นที ดำเนินการในปี 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

ซึ่งโครงสร้างการให้บริการ NSW เดิมที่ให้บริการโดยกรมศุลกากรนั้น ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเกือบทั้งหมดจะไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบ NSW แต่จะเชื่อมต่อผ่านผู้ให้บริการ VAN/VAS (Value Added Network/Value Added Service) หรือ เกตเวย์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ NSW โดยผู้ให้บริการ VAN/VAS หรือ เกตเวย์ มีการคิดค่าบริการเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกอ้างอิงตามอัตราที่กรมศุลกากรกำหนด 

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากร ไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ให้บริการ VAN/VAS เนื่องจากกรมศุลกากรได้ขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาและให้บริการระบบ NSW แต่ต่อมาครม. ได้มีมติให้ เอ็นที เป็นผู้ให้บริการระบบ NSW แทนกรมศุลกากรเพื่อลดภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ โดยให้เอ็นทีลงทุนจัดหาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากร และให้คิดค่าใช้บริการระบบ NSW เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินการและพัฒนาขีดความสามารถได้อย่างต่อเนื่อง  

พันเอกสรรพชัยย์  ชี้แจงเพิ่มเติมว่าเอ็นทีได้พัฒนาระบบ NSW ใหม่ทดแทนระบบเดิมของกรมศุลกากรและเริ่มทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 โดยระหว่างการทดลองให้บริการนั้นเอ็นทีได้เปิดให้ผู้สนใจร่วมให้บริการ NSW กับเอ็นทีซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการ VAN/VAS และ Gateway เดิมที่เคยให้บริการอยู่บนระบบ NSW ของกรมศุลกากร สมัครเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (NSP : NSW Service Provider) เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกเข้ากับระบบ NSW ใหม่ 

โดยเอ็นทีได้นำเสนออัตราค่าบริการ NSW ต่อคณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window เพื่อประกาศใช้ รวมถึงได้หารือกับชมรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และบริการแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ให้บริการ VAN/VAS และ เกตเวย์เดิมถึงความเหมาะสมในการคิดอัตราค่าบริการ ซึ่งผู้ให้บริการเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับอัตราค่าบริการดังกล่าวและได้ลงทะเบียนเป็น NSP พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านคุณสมบัติและหน้าที่ต่าง ๆ ที่คณะอนุกรรมการพัฒนานโยบายและกำกับดูแลระบบ National Single Window กำหนด 

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ NSP ให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกและระบบ NSW ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 8 รายได้ ได้แก่

1.บริษัท ทิฟฟ่า อีดีไอ เซอร์วิสเซส จำกัด

2.บริษัท อี-คัสตอม เซอร์วิส จำกัด

3.บริษัท เค-ซอฟท์แวร์ จำกัด

4.บริษัท คอมพิวเตอร์ ดาต้า ซิสเต็ม จำกัด

5.บริษัท ไทยเทรดเน็ท จำกัด

6.บริษัท อีดีไอ สยาม จำกัด

7.บริษัท ขวัญชัย เทคโนโลยี แอนด์ คอนซัลแตนท์จำกัด

8.บริษัท เทรด สยาม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 

โดยหลังจากที่เอ็นทีเปิดให้บริการ NSW อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน ก.พ 2566 นั้น NSP ทุกรายที่ขึ้นทะเบียนแล้วชำระค่าใช้บริการ NSW มาโดยตลอดและไม่ได้มีปัญหากับผู้ประกอบการการนำเข้าส่งออกแต่อย่างใด 

บริษัทที่ร้องเรียนเป็นผู้ให้บริการเกตเวย์เดิมซึ่งให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกกับระบบ NSW เดิมของกรมศุลกากร ลักษณะคล้ายกับผู้ให้บริการ VAN/VAS รายอื่นที่มาขึ้นทะเบียนเป็น NSP บนระบบ NSW ใหม่ อย่างไรก็ตามผู้ร้องเรียนปฏิเสธไม่ลงทะเบียนและปฏิบัติตามข้อกำหนดการเป็นผู้ให้บริการ NSP บนระบบ NSW ใหม่ แต่ยังมีการใช้บริการ NSW ต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่เอ็นทีเปิดทดลองให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งเอ็นทีได้พยายามเจรจากับผู้ร้องเรียนมาโดยตลอดเพื่อให้ผู้ร้องเรียนขึ้นทะเบียนเป็น NSP และปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับ NSP รายอื่นและไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่การเจรจาไม่บรรลุผล ผู้ร้องเรียนยังไม่ขึ้นทะเบียนเป็น NSP และไม่ชำระค่าบริการทำให้สูญเสียรายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐเอ็นทีจึงต้องดำเนินการทางกฎหมาย 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า เรานำรายได้ที่ได้จากการให้บริการ NSW มาเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการและพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ได้รับโอนระบบมาจากกรมศุลกากร เราได้พัฒนาบริการเพิ่มเติมทั้งระบบรายงานเรือและใบขนสินค้าชายฝั่ง (e-Coasting Trade) ระบบนำเข้าส่งออกพืชกระท่อม ระบบใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) ระบบใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (e-C/O) และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ Single Submission เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ผ่าน NSW ณ จุดเดียวได้ รวมถึงระบบให้บริการใบสั่งปล่อยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-D/O) ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคธุรกิจในรูปแบบ B2B ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ