โอลิมปิก 2024 : เมื่อเทคโนโลยี เปลี่ยนวิธีการติดตามมหกรรมกีฬา

โอลิมปิก 2024 : เมื่อเทคโนโลยี เปลี่ยนวิธีการติดตามมหกรรมกีฬา

ทุกวันนี้ ผมค่อนข้างจะแปลกใจพอควรกับการเปลี่ยนแปลงของวิธีการติดตามผลการแข่งขันกีฬา โลกของเราเปลี่ยนไปแล้ว เพราะสื่อหลักในการติดตามข่าวกีฬาของผมกลายเป็นเว็บค้นหาข้อมูลอย่าง Google ที่ใช้ในการติดตามผลกีฬาต่างๆ

หากถามผู้อ่านว่าติดตามผลมหกรรมกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้อย่างไร ก็เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่า ดูการแข่งขันทางทีวี หรือติดตามจากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่แชร์กันมา

หากย้อนกลับไปสักสิบกว่าปีก่อน การติดตามผลการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ เอเชียนเกมส์ หรือฟุตบอลโลก เราต้องพึ่งพาหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ทุกเช้าเราจะเห็นตารางผลการแข่งขันประเภทต่างๆ ซึ่งความละเอียดของข้อมูลก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบรรณาธิการว่าจะนำเสนอมากน้อยเพียงใด

หากต้องการข้อมูลที่รวดเร็วกว่านั้น ทางเลือกก็คือการรอชมข่าวกีฬาทางโทรทัศน์ แต่ก็มีข้อจำกัดด้านความรวดเร็วในการนำเสนอผลและไม่สามารถครอบคลุมทุกประเภทกีฬาได้ บางครั้งเราอาจต้องเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ข่าวหรือเว็บไซต์ทางการของการแข่งขันนั้นๆ

ผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ผมเริ่มติดตามผลกีฬาออนไลน์ทางเว็บไซต์คือ ช่วงที่มีการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 1994 ที่ฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมัยนั้นอินเทอร์เน็ตก็ยังค่อนข้างล่าช้า และต้องเข้าไปค้นผลในเว็บทางการของการแข่งขัน ซึ่งผลการแข่งขันก็ไม่ได้เป็นแบบเรียลไทม์ แต่ตอนนั้นก็รู้สึกตื่นเต้นมากที่เห็นรูปแบบในการติดตามผลกีฬาช่องทางใหม่

แต่ทุกวันนี้ ผมค่อนข้างจะแปลกใจพอควรกับการเปลี่ยนแปลงของวิธีการติดตามผลการแข่งขันกีฬา โลกของเราเปลี่ยนไปแล้ว เพราะสื่อหลักในการติดตามข่าวกีฬาของผมกลายเป็นเว็บค้นหาข้อมูลอย่าง Google ที่ใช้ในการติดตามผลกีฬาต่างๆ

สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคครั้งนี้ ผมเพียงแค่พิมพ์คำว่า “Olympic 2024” ลงใน Google เท่านั้น ผมก็จะได้เห็นผลการแข่งขันแบบเรียลไทม์ ทั้งตารางเหรียญรางวัล ผลการแข่งขันที่เพิ่งจบไป และโปรแกรมการแข่งขันที่กำลังจะมาถึง ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ Google จะเข้าใจบริบทของตัวผม อยู่ที่ใด เชียร์ทีมไหนหรือประเทศไหน และกีฬาที่ผมสนใจคืออะไร

การที่ Google สามารถแสดงผลข้อมูลแบบนี้ได้ก็เพราะมีเทคนิคการแสดงผลที่น่าทึ่งหลายอย่าง เริ่มจากการมีพันธมิตรด้านข้อมูลมากมาย ทั้งลีกกีฬาชั้นนำอย่าง NFL พรีเมียร์ลีก และองค์กรกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิกหรือ FIFA นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรด้านข้อมูลกีฬาอย่าง Sportradar และ STATS Perform

โดย Google ใช้เทคโนโลยี API เพื่อรับข้อมูลแบบเรียลไทม์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้

วิธีที่ Google นำข้อมูลมาแสดงผล เป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Rich Snippets” หรือ “ข้อมูลเสริมพิเศษ” ซึ่งเป็นการแสดงข้อมูลแบบย่อยอย่างมีโครงสร้างบนหน้าผลการค้นหา ทำให้เราเห็นข้อมูลสำคัญได้ทันทีโดยไม่ต้องคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ใดๆ

นอกจากนี้ Google ยังใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Knowledge Graph” หรือ “กราฟความรู้” ซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน ทำให้สามารถแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วน เช่น เมื่อเราค้นหาชื่อนักกีฬา เราจะไม่เพียงแค่เห็นผลงานล่าสุด แต่ยังเห็นประวัติ สถิติ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ Google ใช้เทคโนโลยีเอไอเพื่อปรับปรุงการแสดงผลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด ระบบนี้จะเรียนรู้จากพฤติกรรมการค้นหาของผู้ใช้ และปรับแต่งการแสดงผลให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น หากคุณมักจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับฟุตบอล เมื่อคุณพิมพ์คำว่า “ผลการแข่งขัน” Google ก็อาจจะแสดงผลการแข่งขันฟุตบอลก่อนกีฬาอื่นๆ

อีกเว็บหนึ่งที่ผมใช้ในการดูผลและสถิติกีฬาต่างๆ คือ Wikipedia ซึ่งกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ Wikipedia ช่วยให้เราสามารถค้นหาสถิติการแข่งขันของนักกีฬาแต่ละคน โปรแกรมการแข่งขัน ประวัติผลงานในอดีต หรือแม้แต่ข้อมูลเชิงลึกของแต่ละประเภทกีฬา ผมสามารถที่จะดูผลการแข่งขันของนักกีฬาไทยทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ว่าผลงานในแต่ละรอบเป็นอย่างไร รวมถึงสถิติต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์อื่นๆ อาจไม่สามารถแสดง

ผมเองก็แปลกใจว่า Wikipedia สามารถอัปเดตข้อมูลได้รวดเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะปกติแล้ว Wikipedia อาศัยเครือข่ายบรรณาธิการอาสาสมัครทั่วโลกในการอัปเดตข้อมูลจากการค้นคว้าเพิ่มเติม ผมพบว่า Wikipedia ไม่ได้พึ่งพาแค่อาสาสมัครเท่านั้น แต่ยังใช้บอท (โปรแกรมอัตโนมัติ) ในการอัปเดตข้อมูลบางส่วน โดยเฉพาะข้อมูลที่มีรูปแบบแน่นอน เช่น ผลการแข่งขัน สถิติ หรือตารางคะแนน

บอทเหล่านี้ถูกพัฒนาและควบคุมโดยสมาชิกชุมชน Wikipedia ที่ได้รับความไว้วางใจ นอกจากนี้ Wikipedia ยังใช้ประโยชน์จาก RSS feeds จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของลีกกีฬาต่างๆ หรือสำนักข่าวกีฬา เพื่อรับข้อมูลล่าสุดโดยอัตโนมัติ

แม้ว่า Wikipedia จะใช้ระบบอัตโนมัติ แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อมูลโดยมนุษย์ บรรณาธิการอาสาสมัครจะคอยตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากระบบอัตโนมัติ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานของ Wikipedia

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้หลายคน รวมถึงผมเอง แทบจะไม่ต้องพึ่งพาการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือรอชมข่าวทางโทรทัศน์อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับแฟนกีฬาเท่านั้น

แต่ยังเปลี่ยนวิธีที่เราบริโภคข่าวสารและข้อมูลกีฬาไปอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญที่สุดข้อมูลมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะการรับข่าวสารผ่านการแชร์มาจากโซเชียลมีเดีย เพราะการค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

ผมติดตามผลกีฬามาตั้งแต่ยังเด็กผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี และอินเทอร์เน็ต เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประสบการณ์ในการรับรู้ข่าวสารเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลก็เปลี่ยนไป แม้แต่การจะดูกีฬาสดๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยจากการที่ได้ข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น

ผมเชื่อว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นสิ่งใหม่ หรือนวัตกรรมในการติดตามผลกีฬาที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านี้อีก แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลแค่ไหน เชื่อว่าหัวใจของการติดตามกีฬาก็ยังคงเป็นความรักและความหลงใหลในกีฬานั่นเอง และกีฬาก็คือข้อมูลอย่างหนึ่ง ที่ต้องติดตามกันที่ตัวเลขและสถิติต่างๆ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเน้นเรื่องพลังของข้อมูล