‘นักข่าว’ อาเซียนใช้ AI ช่วยรายงานข่าวมากขึ้น ในไทยแตะ 95%
AI กำลังสร้างผลกระทบไปในทุกๆ วงการ ผลการสำรวจล่าสุดเผย นักข่าวและสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยอมรับ AI สำหรับการรายงานข่าวมากขึ้น
ผลสำรวจโดย “วีโร่” บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และการตลาดดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยว่า สื่อมวลชนต่างตระหนักถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของ AI ในสายงานของพวกเขา และเชื่อว่าการเข้าใจเทคโนโลยีนี้ให้ลึกซึ้งเป็นสิ่งสำคัญ
ผลการศึกษาภายใต้ชื่อ “เทคโนโลยี AI และการสื่อสารมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การสำรวจโอกาส และความท้าทาย (AI and Journalism in Southeast Asia: A Survey of Opportunities and Challenges)” แสดงผลการวิเคราะห์เชิงลึก โดยอิงจากการสำรวจนักข่าว 75 คนในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม พบว่า AI กำลังตั้งเกณฑ์ใหม่ในการรวบรวมข่าว การเล่าเรื่อง และการบริโภคข้อมูล
ราฟาเอล ลักคาร์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ วีโร่ กล่าวว่า อิทธิพลของ AI ต่อการทำข่าวไม่ได้อยู่แค่ในด้านการทำงานเชิงอัตโนมัติ แต่ยังเกี่ยวกับการเพิ่มความแม่นยำ ความเร็ว และความลึกของการรายงานข่าวให้มากยิ่งขึ้น”
ไฮไลท์การสำรวจ: การยอมรับ AI ข้ามพรมแดน
- ในอินโดนีเซียและไทย 95% ของนักข่าวมีความเข้าใจเกี่ยวกับ AI อย่างลึกซึ้ง โดยที่ไทยยังแสดงอัตราการปรับใช้สูงถึง 95% ซึ่งสะท้อนถึงการปรับใช้ AI รวมเข้ากับงานของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ในฟิลิปปินส์ 90% ของนักข่าวคุ้นเคยกับ AI แต่มีเพียง 52% ที่มีการปรับใช้ AI รวมเข้ากับงานของพวกเขา
- ในเวียดนาม แม้ว่า 78% ของนักข่าวจะคุ้นเคยกับ AI แต่ 100% แสดงท่าทีเชิงบวกต่อการปรับตัวกับผลกระทบของ AI ที่มีต่อการทำงานของพวกเขา
นอกจากนั้น นักข่าวเหล่านี้ยังได้แสดงความกังวลที่มีน้ำหนักเกี่ยวกับ AI รวมถึงการบริหารจัดการ ผลกระทบต่อแรงงาน และปัญหาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะในไทยซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพา AI มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้คุณภาพและความเชื่อถือได้ของการทำข่าวลดลง
ขณะที่ในเวียดนาม ความกระตือรือร้นต่อ AI ถูกให้น้ำหนักมากขึ้นด้วยการให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอย่างเข้มงวด
ด้วยความจำเป็นในการศึกษา AI ที่เหมาะสมนั้นมีความสำคัญและชัดเจนอย่างมาก ดังนั้นนักข่าวทั่วภูมิภาคต้องการทำความเข้าใจความสามารถของ AI อย่างเต็มที่ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนเองในภูมิทัศน์สื่อดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยขั้นตอนเพื่อส่งเสริมการปรับใช้ AI อย่างเป็นบวกมีดังนี้
- การศึกษา: พัฒนาและจัดโปรแกรมการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับใช้ AI เข้ากับการทำข่าว
- การยอมรับ: แก้ไขข้อกังวลของนักข่าวที่มีประสบการณ์และอาวุโส เกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อความมั่นคงในการทำงาน ลิขสิทธิ์ และจรรยาบรรณของการทำข่าว
- ความโปร่งใส: สื่อสารฟังก์ชันและข้อจำกัดของเครื่องมือ AI อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และจัดการความคาดหวังได้อย่างตรงจุด
- ความรับผิดชอบ: รักษาระบบสนับสนุนที่แข็งแกร่งเพื่อจัดการกับความท้าทายใดๆ ที่เกิดจากเครื่องมือ AI เพื่อให้แน่ใจว่ามีความรับผิดชอบและการใช้งานอย่างมีจริยธรรม