ดีป้ายัน 'สตาร์ทอัป' ยังไม่ตาย เล็งอัดงบหนุนเป็น 100 ล้านบาท
ดีป้าเผยวัฏจักรสตาร์ทอัปมีขึ้น-ลง แม้ไม่คึกคักเหมือนเดิม แต่เชื่อไทยมีศักยภาพโดยเฉพาะสตาร์ทอัป Deep Tech ด้านเอไอ-บิ๊กดาต้า เผยปีนี้พร้อมให้เงินสนับสนุน 100 ล้านบาท
นายชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มสตาร์ทอัปที่จะมีโอกาสเติบโตในตลาดหรือได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน (วีซี) คือสตาร์ทอัปด้าน Deep Tech ที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ AI และบิ๊ก ดาต้า เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเป็นเทรนด์ และเริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ช่วยยกระดับการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
"ปัจจุบันวงการสตาร์ทอัปไทย อาจจะดูไม่คึกคักเหมือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวัฏจักรของธุรกิจสตาร์ทอัปที่มีช่วงขึ้นและลงซึ่งเป็นแบบนี้ในทั่วโลก แต่หากมองในภาพร่วมวงการสตาร์ทอัปของไทย ก็มีการพัฒนาไปอย่างมาก โดยยังมีสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพ"
นายชินาวุธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันดีป้าได้มีโครงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และมีสตาร์ทอัปที่ได้รับการสนับสนุนโดยดีป้าในพอร์ตจำนวน 170 บริษัท ในปีนี้คาดว่าจะมีการสนับสนุนเพิ่มอีก 20 บริษัท ซึ่งปีนี้ได้งบประมาณสนับสนุนสตาร์ทอัปเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 50 ล้านบาท ในปีที่แล้วซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัปในระยะเริ่มต้นให้สามารถประกอบธุรกิจได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้มีจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อให้สตาร์ทอัปสามารถนำบริการหรือผลิตภัณฑ์ของตนเอง เข้ามาอยู่ในบัญชี เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเอกชน โดยเฉพาะ หน่วยงานรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างผ่านบบัญชีบริการดิจิทัลได้ง่าย โดยมีราคากลางที่เป็นมาตรฐาน ของการจัดซื้อจัดจ้างรวมถึงสามารถช่วยให้สตาร์ทอัพของไทยสามารถเข้าถึงตลาดภาครัฐ ได้ง่ายขึ้นด้วย
ทั้งนี้ บัญชีบริการดิจิทัล ที่เป็นการขึ้นทะเบียน Software และ Hardware and Embedded Software ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองระดับสากล ซึ่งสร้างความมั่นใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงและวิธีคัดเลือก โดยนอกจากผู้ซื้อที่เป็นภาครัฐแล้ว สำหรับผู้ซื้อภาคเอกชนยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ
อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล Tax 200% จากกรมสรรพากร การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมจาก BOI และการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจากดีป้า
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการอยู่ในบัญชีบริการดิจิทัลทั้งสิ้น 44 ราย พร้อมทั้งสินค้าและบริการดิจิทัลจำนวน 399 รายการ