'ทักษิณ' แนะหาโมเดลปั้นไทย สู่ฮับฐานยิงจรวด 'ดาวเทียม LEO'

'ทักษิณ' แนะหาโมเดลปั้นไทย สู่ฮับฐานยิงจรวด 'ดาวเทียม LEO'

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีใหญ่เป็นครั้งแรกในงาน “Vision For Thailand” จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” มองเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วสู่ยุค Super Intelligent AI และ ดาวเทียม LEO เร่งหาโมเดลเจรจาจีนปั้นไทยสู่ประเทศแห่งการสร้างฐานยิงจรวดขนาดเล็ก

ภายในงาน Vision For Thailand จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” เพื่อกล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับ “วิสัยทัศน์ประเทศไทย” ของ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวถึงความรุดหน้าของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการมีระบบ Super Computer ที่เปลี่ยนไปสู่การมี Super Intelligent AI และรวมไปถึงการมีดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย 

โดยยกตัวอย่างว่า จีนมีแผนการยิง ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) จำนวน 50,000 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการระบบ 6G ไปไกลกว่าไทยที่ใช้ 5G ซึ่งจะได้ทั้งความเร็ว (Speed) และการรับรู้ (Sense) โดยมาครบทั้งมีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

ในแง่ภาคการผลิตดาวเทียม เมื่อมีดีมานด์ความต้องการจากจีนเยอะมาก ไทยน่าจะเชิญชวนให้เกิดการผลิตฐานจรวดขนาดเล็ก เพราะที่ผ่านมา เราเองก็มีศักยภาพได้ทำดาวเทียมสำหรับพยากรณ์อากาศ ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เราเป็นอยู่ในภูมิประเทศได้เปรียบเพราะช่วยลดต้นทุนได้ เวลายิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรดังนั้น ตรงนี้เราควรต้องเชิญชวน และหาโอกาสตรงนี้ 

รู้จักประเภทดาวเทียมที่อยู่บนอวกาศ

โดยปกติดาวเทียมจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามตามระยะความสูงจากโลก หรือตำแหน่งวงโคจร (Orbit) ดังนี้ 

1. วงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) อยู่ที่ความสูงประมาณ 500-2,000 กิโลเมตรจากโลก กำลังเป็นที่นิยมเพราะให้บริการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่ถูกลง 

2. วงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit : MEO) ระยะห่างจากโลก 7,500 กิโลเมตร 

3. วงโคจรประจำที่ (Geostationary Earth Orbit : GEO) อยู่สูงจากโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับโลกเคลื่อนที่รอบตัวเอง เราจึงเรียกดาวเทียมนี้ว่าดาวเทียมวงโคจรประจำที่ 

ส่อเค้าฟื้นโปรเจกต์ดาวเทียมแห่งชาติ

ที่ผ่านมามีความพยายามจากรัฐบาลในการสร้างดาวเทียมแห่งชาติ โดยระบุว่าสาเหตุของการสร้างดาวเทียมแห่งชาติ ก็เพราะต้องการมีดาวเทียมไปอยู่ในวงโคจรที่ไทยมีสิทธิในวงโคจรที่ไม่มีดาวเทียม เพราะการเสียสิทธิวงโคจรนั้นถึงแม้ไม่เท่ากับการเสียอธิปไตยในภาคพื้น แต่ก็คือ การเสียสิทธิพื้นที่ในอวกาศ 

ส่วนอีกประเด็นคือ รัฐบาลเริ่มมองเห็นความสำคัญในการมีดาวเทียมเพื่อความมั่นคงเอาไว้ใช้งานเอง โดยจะมีผู้ร่วมดำเนินการคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กระทรวงกลาโหม และกองทัพอากาศ 

ดังนั้น คำถามว่า การมีดาวเทียมแห่งชาติเป็นของตัวเองก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างฟันธงว่าจะคุ้มหรือไม่ เพราะต้องดูว่าโมเดลการสร้างดาวเทียมจะเป็น LEO หรือ GEO เพราะถ้าเป็นวงโคจรต่ำก็น่าจะใช้เงินหลัก 100-250 ล้านบาท แต่หากเป็นดาวเทียม GEO ที่มีความเสถียรมากที่สุดต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท 

แต่ในอนาคตเมื่อการใช้งาน 5G และพัฒนาไปสู่การ 6G จะมีความแพร่หลายมากขึ้น และเข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ดาวเทียม GEO ที่อยู่ระยะไกลทำให้การเดินทางของคลื่นมีความหน่วงของการรับ-ส่งสัญญาณมาก ไม่เหมาะที่จะรองรับแต่ระบบดาวเทียมแบบ LEO นี้ อยู่ใกล้พื้นดิน และยังมีรูปแบบวงโคจรหมุนรอบโลกจากขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ จึงทำให้การบริการมีได้ทั่วถึงทุกมุมโลก ซึ่งดาวเทียมชนิดนี้จะมาช่วยให้เทคโนโลยีเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รมว.ดีอีรับลูกพร้อมศึกษาแนวทาง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวว่า การสร้างฐานยิงจรวด และการประกอบดาวเทียมขนาดเล็กก็เชื่อว่าไทยมีศักยภาพที่จะดำเนินการได้ และไทยก็ยังมีสถานีภาคพื้นดินสำหรับรับส่งสัญญาณดาวเทียม LEO แล้วในพื้นที่จ.อุบลราชธานี ซึ่งก็เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่มีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที เป็นพันธมิตรทำร่วมกับ OneWeb บริษัทดาวเทียมระดับโลกจากอังกฤษ ซึ่งขณะนี้กำลังรอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบสัญญาที่ 3 หลังจากนั้น ก็จะเปิดให้บริการได้ในทันที เพราะการติดตั้งอุปกรณ์ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์